ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมอาหารเป็นยา วิถีชุมชน เพื่อคนสระบุรี กระตุ้นประชาชนใช้สมุนไพรพื้นบ้านประกอบอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพ ป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (3 กันยายน 2565) ที่ ศูนย์ OTOP Complex พุแค จังหวัดสระบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมอาหารเป็นยา วิถีชุมชน เพื่อคนสระบุรี พร้อมมอบป้าย “อาหารเป็นยา” ให้แก่ร้านอาหารที่มีเมนูสมุนไพรชูสุขภาพ จำนวน 35 ร้าน โดยมี นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต  ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่4 นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายแพทย์กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าร่วมงาน

ดร.สาธิต กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหารหวานจัด เค็มจัด ไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในปี 2560 – 2564 พบคนไทยเกินครึ่งกินผักไม่เพียงพอ การกินน้ำตาลและไขมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และไขมันในเลือดสูง

ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ชีวิตแบบสมดุล กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายขับเคลื่อน โครงการ “อาหารเป็นยา” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้นำสมุนไพรที่มีในแต่ละท้องถิ่นมาใช้ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ประชาชนมีความต้องการอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง โครงการ“อาหารเป็นยา” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชน ในการเลือกรับประทานอาหารสุขภาพที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง 

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า จังหวัดสระบุรี ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองสมุนไพร 1 ใน 14 จังหวัดนำร่องของประเทศ มีการดำเนินงานอย่างครบวงจรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นจังหวัดนำร่องโครงการอาหารเป็นยา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ร่วมกันสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ตามวิถีชีวิตของชาวสระบุรี การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพผ่านช่องทาง E-book รวมถึงส่งเสริมการปลูกสมุนไพร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมจังหวัดสระบุรีอย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีกิจกรรม อาทิ การเสวนาวิชาการ การบรรยายและสาธิตการปรุงอาหารสมุนไพร บูธความรู้ทางวิชาการ บูธจำหน่ายสินค้าอาหารเป็นยา และการสาธิตชุดความรู้อาหารเป็นยาวิถีชุมชนเพื่อคนสระบุรี รวม 35 บูธ  

“ขอให้ใช้จุดแข็งของประเทศไทย ที่มีทั้งพืชผัก ผลไม้ สมุนไพรหลากหลายในท้องถิ่น นำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมทั้งถ่ายทอดข้อมูลให้กับประชาชน รวมถึงผู้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะขยายโครงการอาหารเป็นยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป “ ดร.สาธิตกล่าว