ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ ชม รพ.สต.เขาไม้แก้ว จ.ตรัง จัดการครบวงจรดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง หลังบูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำ Telehealth จะยกระดับการบริการ ด้าน ผอ.รพ.สต.เขาไม้แก้ว ชูแนวคิด “เปลี่ยนบ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล” ชี้ LTC คือกลไกสำคัญดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต. หนุนทุกด้าน ให้หมุนเวียนยืมอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วย ปรับปรุงที่อยู่ เติมงบประมาณให้ ขณะที่ สสอ.ต้องการขับเคลื่อนกระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลระบบบริการมากขึ้น พร้อมวางเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย 

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ จ.ตรัง ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต12 สงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงที่บ้านแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนบ้านให้เป็นเตียงโรงพยาบาล” ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สังคมไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ และจะมีผู้เข้ารับบริการสุขภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการดูแลในโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างครอบคลุม ต้องอาศัยระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง รวมทั้งการมีส่วนร่วมจัดบริการของชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลแบบครบวงจรตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาในโรงพยาบาล และการดูแลระยะยาวในชุมชน

นอกจากนี้ การดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง หรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่องของ รพ.สต. เขาไม้แก้ว เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงระบบบริการปฐมภูมิที่มีชุมชนได้มีส่วนร่วมดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพในอนาคตที่มีประสิทธิภาพ พื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อขยายการทำงานได้ 

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สปสช.ต้องการสนับสนุนให้มีการกระจายการบริการให้มากขึ้น โดยในอนาคตอยากจะให้มีการบริการการแพทย์ทางไกล หรือ Telehealth ที่ผู้ป่วยได้คุยโดยตรงกับแพทย์เจ้าของไข้ และมารับยาที่ รพ.สต. ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริการให้กับประชาชน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

"เช่นที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา มีคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังประมาณ 10 คนมารวมกันคุยกับแพทย์ผ่าน Telehealth และเมื่อสั่งจ่ายยา ก็จะให้ อสม. ไปรับยาให้ แต่ระหว่างที่ อสม.นำยาไปให้ คนไข้ก็จะได้รับคำแนะนำการกินยาจากเภสัชกรผ่านทางโทรศัพท์ที่ อสม.ประสานให้ทุกคน เราสามารถทำได้แล้ว และยังมีค่าตอบแทนให้กับอสม. และยังเป็นการยกระดับการบริการให้กับประชาชน" ทพ.อรรถพร กล่าว 

นายสมพล เสียมไหม ผอ.รพ.สต. เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า  รพ.สต.เขาไม้แก้วเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนใน 4 ด้าน คือ การเข้าถึงบริการการแพทย์ การเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ การเข้าถึงสวัสดิการ และการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ผ่านการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งเครือข่ายประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาไม้แก้ว 

ทั้งนี้ ได้ใช้แนวคิด “เปลี่ยนบ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล” ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่จะมีเจ้าหน้าที่ทีมบริการอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย สหวิชาชีพ ทีมหมอครอบครัว ทีม care giver ทีม อสม. และทีมจากอบต.เขาไม้แก้ว 

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยมีระบบกองทุนอุปกรณ์การแพทย์หมุนเวียน เช่น เตียงผู้ป่วย ถังออกซิเจน รถเข็น รวมถึงการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลอำเภอสิเกาอีกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนด้านยา อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น 

“กลไกที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง คือกองทุน Long Term Care ของ สปสช.ที่จัดหาวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เตียงลม ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงได้ยอ่างมาก รวมไปถึงยังถูกนำมาใช้เป็นค่าตอบแทนนักบริบาล หรือ Care giver อีกด้วย” ผอ.รพ.สต.เขาไม้แก้ว กล่าว 

นายพีรพนธ์ ลังเมือง นายก อบต.เขาไม้แก้ว กล่าวว่า การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จะใช้วิธีบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อพัฒนา และดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย 

ทั้งนี้ อบต.เขาไม้แก้ว ทำหน้าที่สนับสนุนการบริการสุขภาพของ รพ.สต.เขาไม้แก้ว เช่น ปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงให้มีสภาพที่เหมาะสม รวมถึงมีกองทุนหมุนเวียนอุปกรณ์สำหรับดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ที่จะให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับดูแลผู้ป่วย และยังช่วยหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ รพ.สต.เขาไม้แก้วมีกำลังเพียงพอในการดูแลประชาชน

นายวุฒิชัย ภักดี สาธารณสุขอำเภอสิเกา กล่าวว่า แผนบริการสุขภาพให้กับประชาชนของอำเภอสิเกามีความครอบคลุมในทุกมิติ แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการขับเคลื่อนงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งหมดในอำเภอสิเกา

“ส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบบริการสุขภาพของรพ.สต.เขาไม้แก้ว มีประสิทธิภาพ เกิดจากความเข้มแข็งของของกลุ่มประชาชนในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน และ อบต. รวมไปถึง รพ.สต.เขาไม้แก้ว ทำให้แนวทางการทำงานถูกนำไปใช้เป็นตัวอย่างสำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้ศึกษาและนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง” สาธารณสุขอำเภอสิเกา กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand