ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” นำทีมผู้บริหารแถลงเตรียมพร้อมโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค. พร้อมมาตรการรองรับหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสิ้นสุด ศบค. ย้ำรับมือได้ ทั้งระบบสาธารณสุข มีเตียงเพียงพอ การรักษายังฟรีตามสิทธิ์แต่ละคน ยกเว้นฉุกเฉินวิกฤตเข้า UCEP PLUS ขอให้ปชช.มั่นใจ  ต.ค.นี้ ปรับเปลี่ยนผู้บริหาร แต่ทำงานบูรณาการเชื่อมโยงได้ ทุกคนมีประสบการณ์บริหารงานโควิดทั้งสิ้น ส่วนวัคซีนขอให้ฉีดเข็ม 4 เป็นอย่างต่ำ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหาร ประกอบด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ.  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลัง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 2565 เป็นต้นไป

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด – 19 ดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติ ทั้งยุโรป แอฟริกา และเอเชียเริ่มดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมต่างๆ อย่างปกติแล้ว ในส่วนของประเทศไทยก็สามารถบริหารจัดการได้ดี อัตราการป่วยเสียชีวิตลดลง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 92 % จากการฉีดวัคซีน กว่า 143 ล้านโดส ปัจจุบันการติดเชื้อตามธรรมชาติ ติดเชื้อเข้ารพ.ลดลง และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง คนที่อาการรุนแรงคือกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ดังนั้นแผนการเพื่อรองรับโควิด – 19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 57 จากนี้จะเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ดังนั้น จากนี้จะกลับมาใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ แต่จะลดมาตรการต่างๆ ลงไปบ้างเพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และมีความมั่นใจในระบบสุขภาพ ซึ่งยืนยันว่าการรักษายังดูแลฟรีตามสิทธิ ตามขั้นตอน ตามมาตรฐาน ตามดุลยพินิจของแพทย์เต็มที่ ยา วัคซีนก็พร้อม หากมีภาวะฉุกเฉินก็สามารถใช้สิทธิ์ยูเซ็ปเข้ารักษาสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน 3 เข็มยังไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็ม 4 เป็นอย่างต่ำ ส่วนเข็ม 5 กรณีคนที่ต้องทำงานใกล้คนหมู่มาก ก็ขอให้มาฉีดได้

 

นายอนุทิน กล่าวว่า   ช่วงก่อนและหลัง 1 สัปดาห์จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ พร้อมทั้งให้มั่นใจถึงระบบสาธารณสุขที่จะมารองรับ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารจะทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ก็จะไปดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ”    จะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกฎระเบียบต่างๆในการรักษาพยาบาลและเตรียมพร้อมการรักษาพยาบาลสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน  

ท่านถัดไป นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะไปดำรงตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า  อธิบดีกรมควบคุมโรคที่ปฎิบัติหน้าที่มาตลอด 2 ปีท่านต้องมีความเข้าใจในเรื่องการควบคุมป้องกันโรคโควิด รวมถึงการคัดกรอง การบริการ การบริหารโรคระบาด ทั้งโควิด และโรคอื่นๆ  เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงสามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆเพื่อทำการเชื่อมต่อได้ ขอให้ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่างานจะมีความต่อเนื่องและจะถูกบริหารโดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการบริหารสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะไปดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมควบคุมโรค”  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ท่านจะเข้าใจมิติการให้บริการ การตั้งมาตรการต่างๆ การดูแลครอบคลุมในเรื่องการรักษาพยาบาล และความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน เมื่อท่านมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรคก็จะสืบเนื่องทั้งระบบการให้บริการ การเฝ้าระวัง และการป้องกันควบคุมโรค

ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์จะมีภารกิจในเรื่องของวิธีการรักษา การใช้ยาต่างๆซึ่งหลายคนอาจกังวลว่ายานี้ดีหรือเปล่า ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร ซึ่งมีการออกไกด์ไลน์ หรือข้อบ่งชี้การรักษาออกมา  ดังนั้น งานนอกจากจะต่อเนื่องแล้วก็ยังเชื่อมโยงกันอีก โดยจะทำให้เกิดการรวมศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข มีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหมด 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ทั้งผู้ป่วยเข้ารพ.และผู้อาการหนัก รวมถึงผู้เสียชีวิตแต่ต้องพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ปี 2566 คาดว่าการระบาดจะพบได้ 1-2 ครั้ง เป็นไปตามฤดูการคล้ายไข้หวัดใหญ่ สำหรับระบบที่วางไว้คือ 1.เฝ้าระวังผู้ป่วยในรพ. 2.เฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน และมีทีมสอบสวนโรค และประกาศ พิจารณาเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนควบคุม 3.เฝ้าระวังสถานที่เฉพาะ เช่น โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ 4.เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์  สำหรับวัคซีนมีในมือและในสัญญาซื้อ 42 ล้านโดส เพียงพอไป 6 เดือน แต่หากต้องใช้เพิ่มก็สามารถจัดหาได้ เบื้องต้นฉีดตามความสมัครใจ ปีละ 1-2 ครั้ง แต่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง สำหรับการตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ปฏิบัติการมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง  (DMHT) ส่วนประชาชนทั่วไปแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าพื้นที่แออัด

 

นพ.ธเรศ   กล่าวว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีความกังวลในเรื่องของสิทธิ์การรักษาผู้ป่วย ซึ่งซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้นัดกองทุนที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องสิทธิ์การรักษา   โดยยืนยันว่าการรักษา ยังเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย  ยา ฯลฯ  โดยทั้ง 3 กองทุนได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว กรณีผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ UCEP PLUS สำหรับสถานพยาบาลชั่วคราว ทั้งฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม ฯลฯ จะยุติทั้งหมดในสิ้นก.ย.นี้ แต่หากมีสถานการณ์อะไรก็ประกาศเปิดใหม่ได้ ส่วนแรงงานต่างด้าว กรณีมีประกันสุขภาพก็ให้ใช้สิทธิ์ประกันฯ แต่หากไม่มีประกันฯ ก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ

 

นพ.สุระ  กล่าวว่า ในส่วนของความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข  เฉพาะสำนักงานปลัดสธ.มี รพ.กว่า 900 กว่าแห่ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) กว่า 9 พันแห่ง และศักยภาพกำลังคนอีกราว 4 แสนคน ซึ่งขาลงช่วงนี้ เรามีความพร้อมเพียงพอ โดยสถานการณ์เตียงทั้งหมดมีประมาณ 73,000 เตียง และ ณ วันที่ 25 ก.ย.65  มีคนไข้นอนโควิด 4,800 คน คิดเป็นร้อยละ 6 ของเตียงที่มีอยู่ โดยกว่าร้อยละ 90  อาการไม่รุนแรง ส่วนเตียงผู้มีอาการระดับ 2.2 และ 2.3 มีประมาณร้อยละ 10  ทั้งนี้ สามารถขยายได้ถึง 1.4 แสนเตียง   ส่วนเรื่องยารักษาโควิด19 ขณะที่มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้ได้อีก 9 เดือน โมนูลพิราเวียร์ใช้ได้อีก 1 ปี และเรมดิซีเวียร์ใช้ได้อีก 8 เดือน หากสถานการณ์เป็นเช่นปัจจุบันไม่ต้องกังวลมีเตียงและยาเพียงพอ

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ชงแนวทางรักษาโควิดล่าสุด เสนออีโอซี 28 ก.ย. ห้ามใช้แพกซ์โลวิด-โมลนูฯ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org