ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์จัดอบรมเตรียมพร้อมหลังโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง พร้อมอธิบายแนวทางเวชปฏิบัติ วินิจฉัย รักษาโควิดสำหรับบุคลากรการแพทย์ครั้งที่ 25  ปรับปรุง 5 ประเด็น เช่น เปลี่ยนการแยกกักผู้ติดเชื้อ  แนวทางรับผู้ป่วยอยู่ใน รพ. (admit)   ปรับการให้ยาต้านไวรัส ฯลฯ ส่วนกรณีขอใบรับรองแพทย์ระบุ 5 วันให้พิจารณาตามอาการ ความจำเป็นทางการแพทย์  ด้านหมอรามาฯ ไม่แนะนำตรวจ ATK ก่อนร่วมกิจกรรมต่างๆ ในคนไม่มีอาการ เช่น เข้าประชุมในโรงแรม โรงเรียน   แต่ให้ดูที่อาการเป็นหลัก 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 กันยายน  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรมออนไลน์เตรียมความพร้อมสำหรับช่วง Post Pandemic  ซึ่งจัดโดยกองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ขณะนี้มีไกด์ไลน์ หรือแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อใน รพ. กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 25   เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั้งการให้บริการทางการแพทย์ คำแนะนำ ข้อปฏิบัติตัว   

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับไกด์ไลน์ดังกล่าวมีการปรับแนวทาง 5 ประเด็น คือ 1.เปลี่ยนการแยกกักผู้ติดเชื้อ เป็นการแนะนำปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ  2.ปรับการให้บริการทางการแพทย์แบบผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยในขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงต่อโรครุนแรง  3.ปรับคำแนะนำในการ admit  4.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มอาการต่างๆ และ 5.ปรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด

ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยที่เข้ารพ. และมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจขอให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่งรอรับการรักษา ทั้งนี้ เมื่อตรวจหาเชื้อและพบว่า ป่วยโควิด แต่ไม่มีอาการให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก  แต่หากตรวจไม่พบเชื้อ ให้พิจารณารักษาตามความเหมาะสม และปฏิบัติตาม DMHT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตัวดังกล่าวอย่างเคร่งครัดประมาณ 5 วัน ถ้ามีอาการรุนแรงให้พิจารณารับไว้ในรพ.  ทั้งนี้ กรณีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง พิจารณาส่งตรวจ ATK ซ้ำ

ส่วนคำแนะนำการรับผู้ป่วยไว้ในรพ. หรือแอดมิท  (Admit) ให้พิจารณา 6 ข้อ ดังนี้ 1.มีไข้ อุณหภูมิตั้งแต่ 39 องศาขึ้นไป โดยวัดอย่างน้อยสองครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมงในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง 2.มีภาวะขาดออกเซิเจน 3.มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกำเริบของโรคประจำตัวเดิม 4.เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ที่ไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน เช่น อยู่บ้านคนเดียว 5. มีภาวะอื่นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ตามดุลยพินิจของแพทย์ และ6. ข้อแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุว่า ผู้ป่วยเด็กให้รักษาในรพ.เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือต้องการออกซิเจน เช่น เด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วง หรือชักจากไข้สูง ฯลฯ 

สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ที่โควิดเข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 

1.กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือสบายดี ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันเป็นอย่างน้อย ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนใหญ่หายได้เอง

 2.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ หรือภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันเป็นอย่างน้อย และอาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ถ้าจะให้ควรเริ่มยาภายใน 5 วันนับจากวันที่มีอาการ โดยให้ตัวใดตัวหนึ่ง ไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสตัวอื่น ทั้งโมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด เพราะไม่มีการศึกษารองรับ 

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกว่า โมลนู อาจมีผลต่อการกลายพันธุ์ จึงควรศึกษาความปลอดภัยเพิ่มเติม และหากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการเกิน 5 วันแล้ว และผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสฯ 

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยในเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงได้เพิ่มเติมเรื่องโรคมะเร็ง (ไม่รวมมะเร็งที่รักษาหายแล้ว) เข้ามาจากเดิมมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งกลุ่มนี้มีการใช้ยา 3 ตัว เลือกตัวใดตัวหนึ่ง คือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เรมดิซิเวียร์  หรือแพกซ์โลวิด  

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ต้องรับแอดมิทในรพ.โดยเร็ว แต่การรักษายังใช้แนวทางเดิม คือ แนะนำให้ยาเรมดิซิเวียร์ โดยเร็ซที่สุดเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก
ส่วนการให้ยาต้านไวรัสในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ให้รักษาตามเดิม กลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่ให้ยาต้านไวรัส แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง พิจารณาให้ยาฟาวิฯ หรือเรมดิซิเวียร์ ส่วนกลุ่มที่มีปอดอักเสบ ให้ยาเรมดิซิเวียร์ เป็นต้น

"ในการพิจารณาระยะเวลาการรักษาและลดการแพร่กระจายเชื้อนั้น ปัจจุบันผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ให้ปฏิบัติตนเองสำหรับ DMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน  และกรณีเป็นผู้ป่วยในให้พักรักษาตัวใน รพ.จนอาการของโรคปกติ ระยะเวลาอาจจะรักษาใน รพ.ไม่ถึง 5 วันได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ และให้ปฏิบัติDMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน โดยนับรวมเวลาที่อยู่ใน รพ. และที่บ้านรวมกัน" พญ.นฤมล กล่าว

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนทำกิจกรรมต่างๆ ในคนไม่มีอาการ อย่างการเข้าประชุมในโรงแรม โรงเรียน ฯลฯ  แต่ให้ดูที่อาการเป็นหลัก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับไกด์ไลน์ดังกล่าว ระบุถึงกรณีที่ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ให้ระบุ 5 วัน ถ้าจะให้พักนานกว่านั้น ควรมีเหตุผลความจำเป็นทางการแพทย์ที่ชัดเจน

 

 

อ่านรายละเอียดแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับล่าสุด ตามไฟล์แนบ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

  •