ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ชวนคนไทยคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะซึมเศร้า ผ่านแอปพลิเคชั่น Dmind ในแพลตฟอร์ม หมอพร้อม และ Here to Heal เดินหน้าสานพลังทุกภาคส่วนพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิต หลังพบแนวโน้มประชาชนเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตพุ่งต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) กำหนดให้วันที่ 10 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต  สสส. ยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพจิตเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เน้นสานพลัง หนุนเสริมภารกิจภาคส่วนต่างๆ พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิต ป้องกันก่อนป่วยในกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและมีความเข้มแข็งทางจิตใจในการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน เพราะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต ประชาชนเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น รายงานความสุขโลกปี 2565 พบแนวโน้มความสุขคนไทยลดลงต่อเนื่อง จากลำดับที่ 32 ในปี 2560 ลงไปอยู่ที่ 61 ในปี 2565 รวมทั้งข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 พบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5% ข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติปี 2560-2564 พบกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (อายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี) มีแนวโน้มจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต มาพร้อมภัยเงียบ คือ “ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า”

“สสส. ร่วมกับภาคี สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายตามแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 อย่างเข้มข้นและเร่งด่วน รวมทั้งสานพลังหน่วยงาน องค์กรต่างๆ พัฒนาความรู้ งานวิชาการ เครื่องมือที่ทันสมัย นวัตกรรม เช่น นวัตกรรม Dmind ระบบปัญญาประดิษฐ์คัดกรองภาวะซึมเศร้า ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสุขภาพจิต เพื่อทดแทนความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ประชาชนเข้าไปประเมินตนเองได้ง่าย มีผลแม่นยำ ผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อม ทำให้ผู้มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับดูแลแบบ Fast Track กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงและประชาชนทั่วไปได้รับความรู้เทคนิคการดูแลสุขภาพใจ และยังมีโครงการ “Here to Heal ระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์และเครือข่ายส่งต่อบริการสุขภาพจิต” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เว็บไซต์และ Line official : Here to Heal ให้ผู้กำลังต้องการความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เช่น มีอารมณ์ในเชิงลบบ่อยๆ  มีความเครียดสูง มีเหตการณ์สะเทือนใจ หรือมีปัญหาด้านจิตใจอื่นๆ  รวมทั้งมีความคิดทำร้ายตัวเอง จนถึงผู้ที่มีปัญหาจิตเวชเรื้อรัง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ได้เข้าถึงบริการที่เป็นมืออาชีพ ได้มาตรฐานได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการ Here to Heal ดำเนินการโดย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 รองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้พอดี มีบริการหลัก 3 ด้าน 1.แชทปรึกษากับนักจิตวิทยาอาสาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 40 คน ซึ่งต้องให้คำแนะนำได้แล้วเสร็จภายในครั้งเดียว 2.เวิร์คช้อปออนไลน์ ประเด็นสร้างเสริมสุขภาพจิต เช่น การใช้ดนตรีบริหารความเครียด ลดการตีตราคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต การจัดการความเครียด 3.รวบรวมเครือข่ายสถานบริการด้านสุขภาพจิตทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ต้องการรับบริการ โดยแนวโน้มการรับบริการแต่ละด้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกือบ 3,000 คนตลอดโครงการ กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งมีแนวโน้มผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น แต่ก็มีผู้เข้ารับบริการที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง มารับบริการด้วย เพราะเข้าถึงง่าย มีมือถือเครื่องเดียวก็แชทกับนักจิตวิทยาอาสาได้ ซึ่งในปีนี้จะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นต่อไป

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org