ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยันข้อมูล GISAID เผยไทยพบ “BQ.1” ไม่ใช่ตัวเดียวกับ  “ BQ.1.1”   เดิมส่งข้อมูลไปยังจีเสดถูกจัดเป็นสายพันธุ์  BE.1.1 ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.65 เหตุข้อมูลไม่มาก แต่ต่อมาทั่วโลกรายงานเพิ่มขึ้นทำให้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น BQ.1 แทน ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ย้ำ! ทั้งหมดยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน ไม่พบรายงานความรุนแรง และไทยยังไม่พบสายพันธุ์ BQ.1.1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ต้องระวังร่วมกับ XBB

 

จากกรณีศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดีเผยแพร่ข้อมูลว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกมาเตือนถึงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BQ.1” และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอไมครอน BA.5 โดยระบุจากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดโลก “GISAID” พบโอมิครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีที่พบโอมิครอนสายพันธืย่อย BQ.1  เป็นชายต่างชาติอายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน รักษาที่ รพ.ในกรุงเทพ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2565 รักษาหายเป็นปกติแล้ว โดยทางรพ. ส่งตัวอย่างมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสายพันธุ์ และส่งข้อมูลเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565 ณ ขณะนั้น GISAID จัดเป็น BE.1.1  มาจาก BA.5.3.1.1.1  จึงทำให้รวบตัวเลขเหลือ BE.1.1  

“แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้(18 ต.ค.) มีการปรับเปลี่ยนจาก BE.1.1  มาเป็น BQ.1  กล่าวคือ ตอนนั้นที่เราซัมมิทไป ข้อมูลถังกลางของโลกยังไม่มากพอ จึงกำหนดให้เป็นเชื้อชนิดหนึ่ง แต่เมื่อมากพอก็ปรับเปลี่ยนได้”

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม BQ.1 อยู่ในหลายตัวที่องค์การอนามัยโลกให้จับตาดู ว่า โตเร็วแค่ไหน ซึ่งจริงๆที่ห่วงมากสุดตอนนี้คือ XBB ถัดมาคือ BQ.1.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BQ.1 โดยตัว BQ.1.1 ไทยยังไม่มี  โดยขณะนี้ประเทศไทยเรามี XBB , BF.7  , BN.1 และ BQ.1

อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูหนาว โอกาสแพร่เชื้ออาจมีขึ้น  ดังนั้น หากระวังใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างหากอยู่ในที่ชุมนุมก็จะช่วยได้ และการฉีดวัคซีนยังสำคัญ ซึ่งสิงคโปร์ที่เจอส่วนหนึ่งคือ เลิกใส่หน้ากากแล้ว ทั้งหมดขึ้นกับสถานการณ์ ส่วนโรคจะอยู่นานแค่ไหนนั้น การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่วันนี้เชื้อที่เกิดขึ้นเป็นตระกูลโอมิครอน แต่ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง อาจไม่มีอาการด้วยซ้ำไป และเท่าที่ทราบยังไม่มีคนเสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุด XBB ต้องนำตัวอย่างเชื้อที่ไทยพบมาเพาะว่าหลบภูมิฯมากน้อยแค่ไหน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ตัวอย่างนี้เจอช่วงสิงหาคม ซึ่งอาจนานไป เชื้ออาจตายไปแล้ว แต่หากเพาะได้เราก็จะทำ ซึ่งเราก็จะตรวจจับและเฝ้าระวัง พร้อมทั้งทำเหมือนตัวอื่นๆ ในการเพาะเชื้อและดูภูมิคุ้มกันต่อไป นอกจากนี้ เรายังขอความร่วมมือรพ.ขนาดใหญ่ รพ.เอกชนในการส่งตัวอย่างเชื้อโควิด เพื่อให้เราตรวจหาสายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือดี อย่างเจอ XBB ก็พบว่าส่วนใหญ่จากต่างชาติ มีคนไทยก็มาจากสิงคโปร์

เมื่อถามว่า สรุปคือข้อมูล BQ.1 ในจีเสดคือ สายพันธุ์เดียวกับที่ทางกรมวิทย์เจอมาก่อนและรายงานไปก่อนแล้วใช่หรือไม่ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากตอนนั้นที่ส่งข้อมูลไปยังพบไม่มาก และใช้ชื่อว่า BE.1.1 ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนแล้ว แต่เมื่อข้อมูลมากขึ้นจึงปรับเปลี่ยนเป็น BQ.1 ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ยืนยันไทยยังไม่พบสายพันธุ์ BQ.1.1

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดต! ไทยพบโควิด XBB แล้ว 2 ราย เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่อาจหลบภูมิคุ้มกันมากสุด)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org