ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอถึงวันฟันผุจะสายเกินไป! หมอฟันย้ำต้องมาตรวจฟันทารกตั้งแต่ซี่แรก เลิกความเชื่อให้รอจนกว่าเด็กจะปวดฟัน

พ่อแม่หลายคนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของ "หมอฟันเด็ก" เพราะคิดว่า เด็กเล็กมีฟันน้ำนมซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากนัก อีกไม่นานฟันแท้ก็ขึ้น จะพาลูกไปหาหมอฟันก็ต่อเมื่อเกิดฟันผุหรือเด็กมีอาการปวดฟันเท่านั้น แต่มันจะสายเกินไปหรือไม่ กรณีนี้ ทพญ.ศรัณยา กลัดแก้ว ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมสำหรับเด็ก ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวกับ Hfocus ว่า พ่อแม่ควรให้ลูกมาพบทันตแพทย์ ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น แต่ผู้ปกครองอาจคิดว่า ฟันยังไม่เป็นอะไร ทำไมต้องมา ซึ่งหมอฟันไม่ได้เน้นว่าให้มาทำฟัน แต่เน้นเรื่องการพูดคุย ดูแลกันมากกว่าว่า ต้องดูแลฟันลูกอย่างไร เพราะเด็กที่ฟันเพิ่งขึ้นอายุช้าที่สุด 1 ขวบ ก็ยังกินนม เพิ่งเริ่มรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ทันตแพทย์จะได้ให้คำแนะนำว่า การทำความสะอาด ดูแลต้องทำอย่างไร เน้นการพูดคุยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งทันตแพทย์จะนัดตามความเสี่ยงของการฟันผุในเด็กแต่ละคน ถ้ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจะนัดบ่อยทุก 3-6 เดือน ถ้าแนวโน้มผู้ปกครองดูแลฟันน้ำนมของลูกได้อย่างดี อาจนัดห่างเป็น 1 ปี

สำหรับวิธีทำความสะอาดฟันทารก ทพญ.ศรัณยา แนะนำว่า ในเด็กเล็กจน 5-6 ปี จะแนะนำให้ผู้ปกครองแปรงฟันให้ โดยสอนท่าทางการแปรงฟันให้เด็กด้วยท่านอน แนะนำให้เด็กนอนตักเพื่อให้เห็นฟันทุกซี่ในปาก จะสามารถแปรงฟันได้อย่างทั่วถึง เมื่ออายุ 6-7 ปี ให้เด็กฝึกแปรงเองได้ แต่ผู้ปกครองควรแปรงฟันซ้ำให้อีกครั้ง เพราะการขยับของกล้ามเนื้อมือเด็ก ยังไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ในการบิดข้อมือหรือขยับแปรง จนกว่าจะอายุ 11-12 ปี จึงให้เด็กดูแลตัวเอง ซึ่งจะดูแลฟันได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทัศนคติการปลูกฝังการแปรงฟัน ถ้าผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่ เด็กจะมีวินัยว่า ต้องแปรงฟันให้ทั่วถึงหลังจากรับประทานอาหารและแปรงฟันอีกครั้งก่อนเข้านอน 

"เป็นเรื่องปกติที่เด็กจะไม่ให้ความร่วมมือ ขอให้กำลังใจผู้ปกครองว่า อย่าเพิ่งท้อ ช่วงแรก ๆ ฟันน้ำนมของเด็กมีไม่กี่ซี่ ใช้เวลาจับนอนแปรงไม่ถึง 1 นาทีก็เสร็จแล้ว พอแปรงเสร็จแล้วให้กอดปลอบลูก เมื่อฟันเริ่มขึ้นก็ให้แปรงฟันอย่างนี้ทุกวัน จนเด็กเริ่มชินและปรับตัวเองได้ ถ้าพ่อแม่หยุดเมื่อลูกร้อง ใจอ่อน เด็กจะเรียนรู้ว่า วิธีนี้ทำให้พ่อแม่ไม่แปรงฟันต่อ เด็กก็จะร้อง การแปรงฟันจึงไม่สำเร็จ จากประสบการณ์ที่หมอแนะนำให้ เด็กนอนตัก เคยถามผู้ปกครองว่า ลูกร้องไหม ผู้ปกครองบอกว่าร้อง แต่ต้องอดทน ทุกวันนี้เด็กไม่ร้องและให้ความร่วมมือได้ดี การแปรงฟันจึงต้องอาศัยความอดทนของผู้ปกครอง ความร่วมมือ ความเข้าใจของคนในครอบครัวด้วย เพราะปู่ย่าตายายอาจรู้สึกไม่ดีเมื่อเห็นหลานร้อง ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องไปบังคับกันขนาดนั้น คนแปรงต้องสื่อสารกับคนในครอบครัวว่าต้องทำเพราะอะไร ถ้าปล่อยให้ลูกหลานฟันผุ เป็นผลเสียมากกว่า ปล่อยให้ลูกร้องไห้เวลาแปรงฟันไม่กี่นาที ก็กอดเขาเหมือนเดิม แต่เมื่อไหร่ที่เด็กฟันผุ ต้องมานอนทำฟันใช้เวลานานกว่านั้นเยอะ ขอให้อดทน ก็จะให้กำลังใจกันเสมอ" ทพญ.ศรัณยา กล่าว

ทพญ.ศรัณยา ย้ำด้วยว่า การพูดขู่เด็กว่าจะพามาหาหมอฟันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร หรือการขู่เด็กว่าจะถูกถอนฟันนั้น เราก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งไปบอกเด็กแบบนั้น เพราะยังไม่รู้ว่าวันนี้จะทำอะไร 

"เด็กบางคนนั่งเก้าอี้ปุ๊บร้องเลย แล้วถูกขู่ว่า อย่าร้องสิ ถ้าร้องเดี๋ยวให้หมอฉีดยาเลยนะ หมอก็ต้องบอกว่า คุณยายใจเย็น ๆ ค่ะ วันนี้หมอยังไม่รู้เลยค่ะว่าจะทำอะไร ขอตรวจก่อนได้ไหม แล้วค่อยบอกว่าทำอะไร ถ้าคุณยายบอกแบบนี้ เวลาน้องมาทำฟัน ก็จะไม่อยากมา เด็กจะรู้สึกว่าน่ากลัว แล้วไม่มาอีกทั้งที่ไม่มีอะไรเลย หากครั้งหน้าเด็กต้องมาอุดฟัน เราจะบอกผู้ปกครองไว้ก่อนว่า อย่าเพิ่งบอกถึงขั้นตอนว่า เด็กต้องเจออะไรในครั้งถัดไป บอกแค่ว่า ครั้งหน้าคุณหมอจะมาทำให้ฟันดำ ๆ ของหนู เป็นฟันสีขาว บอกแค่นั้นพอ แล้วหมอจะคุยกับเขาเอง ให้เด็กคิดว่า ครั้งหน้ามาแล้วฟันจะเป็นสีขาว" ทพญ.ศรัณยา ทิ้งท้าย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง