ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัณโรคปอด เป็นแล้วหายได้หรือไม่? คนใกล้ชิดเสี่ยงแค่ไหน วิธีการป้องกันโรคต้องทำอย่างไร 

วัณโรค ภัยคุกคามทางสุขภาพที่เป็นความท้าทายของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานเพื่อมุ่งยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี 2578 

โรคนี้เป็นอีกหนึ่งโรคที่สำคัญของผู้สูงวัย แต่วัณโรคนั้นสามารถรักษาให้หายได้ พญ.กิตติมา บ่างพัฒนาศิริ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ Hfocus ว่า การติดเชื้อวัณโรคเป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อย ในคนทั่วไปอาจใช้คำว่า โรคปอด จึงเกิดความเข้าใจผิดได้ โดยวัณโรคนั้นเป็นโรคที่รักษาหายได้ด้วยการกินยา ผู้ป่วยต้องกินยาสม่ำเสมอประมาณ 6 เดือน จะสามารถหายขาดได้ ทั้งนี้ แพทย์อาจนัดผู้ป่วยวัณโรคปอดในช่วงแรก 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เพื่อดูว่า กินยาแล้วมีผลข้างเคียงหรือแพ้ยาหรือไม่ หลังจากนั้นก็มีการตรวจติดตามอาการ ตรวจเสมหะว่า ผลเป็นลบหรือยัง บางช่วงมีเอกซเรย์ซ้ำว่าดีขึ้นไหม จะมีแนวทางในการติดตาม หากเสมหะไม่พบเชื้อ โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยมาก

ส่วนการแพร่เชื้อวัณโรคนั้น พญ.กิตติมา ให้ข้อมูลว่า การแพร่เชื้อของวัณโรคปอดจะเป็นละอองฝอยที่เล็กกว่าโควิด ดังนั้น การเว้นระยะห่างจะต้องมากกว่าโควิด คนใกล้ชิดที่อยู่ร่วมบ้านจะมีความเสี่ยงสูง เพราะใกล้ชิดเป็นเวลานาน หรือผู้ที่อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้ไม่ทั่วถึงการระบายอากาศไม่ดี จะมีโอกาสรับเชื้อ แต่จะเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หากรับเชื้อจะเกิดโรคภายใน 1-2 ปีแรก ถ้ามีคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรค ผู้สัมผัสควรมาตรวจร่างกาย เอกซเรย์ปอดว่ามีลักษณะบ่งชี้ใดว่า ติดเชื้อแล้ว เป็นโรคแล้วหรือไม่ เพื่อติดตามอาการ

"วิธีป้องกันของคนใกล้ชิด ในช่วงแรกของการวินิจฉัยที่ตรวจพบว่า เสมหะมีเชื้อ โอกาสแพร่เชื้อจะเยอะ ใน 2 สัปดาห์แรก ควรแยกตัว นอนแยกห้อง อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องถึง ใส่หน้ากากอนามัยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อช่วงนั้น หลังจากนั้นโอกาสแพร่เชื้อจะน้อยลง" พญ.กิตติมา กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org