ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พรรค ปชป. ตั้งวงเสวนาถกกัญชาการแพทย์หรือเสรี?   “หมอบัญญัติ”  พร้อมสู้ในสภาฯ วาระ 2  ซัดทุกมาตรการเอื้อพี้กัญชา หลังมีอีแอบสอดไส้ร่าง พรบ.กัญชา  ด้าน อ.นิติศาสตร์ มธ. ชี้ประกาศ สธ.คุมช่อดอกผิดเพี้ยน! แทนที่ต้องคุมทั้งหมด ส่วน “หมอบัณฑิต” เผยช่อดอกกัญชา สาร THC เยอะสุดถึง 10-12%  แต่ สธ. กลับไม่ออกกฎคุมเฉพาะ  ขณะที่จิตแพทย์ชี้กัญชาส่งผลโรคจิตเวชมาก ไม่ได้ช่วยนอนหลับดีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาหูแว่วประสาทหลอน

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ขณะที่มีนักวิชาการและแพทย์ส่วนหนึ่งออกมาคัดค้านกัญชาเสรี และมองว่า ควรกลับคืนยาเสพติด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาเด็กและเยาวชน ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุง คุมเข้มการใช้ช่อดอกกัญชา ไม่ให้มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีผลถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป   

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "อนุทิน" ออกประกาศ ปรับปรุงคุมเข้ม "ช่อดอกกัญชา" ป้องกันใช้ผิดวัตถุประสงค์)

 

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2565 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  จัดงานเสวนา "ร่างกฎหมายกัญชาเพื่อกัญชาทางการแพทย์ หรือเพื่อกัญชาเสรี??"  ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Modern BKK และเพจพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวเปิดการเสวนา ว่า   ประเด็นกัญชา มีการพูดในสังคมไทยมานาน และมาอยู่ในความสนใจของประชาชนเมื่อมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...  ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ วาระที่ 2 คือ การพิจารณารายมาตรา จากนั้นก็พิจารณาวาระที่ 3 คือ การลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

 

“ปรากฎว่าเรื่องนี้กำลังจะเข้าสู่สภาฯ ก็มีกระแสสังคมจากพรรคการเมือง อย่างพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ส่วนปชป.ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เริ่มวิตกกังวล และห่วงใยในการออกกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการที่จะทำให้กัญชาเป็นกัญชาเสรีในสังคมไทย จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ซึ่งเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ จึงมีการเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้าน และปชป. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างนี้ออกไปก่อน แต่การพิจารณากฎหมายนี้ยังเหมือนเดิม และจะกลับเข้ามาสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะหลังการประชุมเอเปค ” นายองอาจ กล่าว

ด้าน นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา ว่า   พรรคประชาธิปัตย์ รับทราบนโยบายกัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 แต่หลังปลดจากยาเสพติด เพื่อให้เป็นพืช แต่ทั่วโลกยังถือว่า เป็นสารเสพติด ซึ่งเมื่อเห็นว่ายังมีพิษภัย ทางพรรคปชป. จึงมีจุดยืนยันว่า เราสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่หนุนกัญชาเสรี ไม่สนับสนุนเพื่อการพี้  ไม่สนับสนุนสันทนา ซึ่งกลุ่มสนับสนุน หรือบางกลุ่มที่เรียกว่า สายเขียว มองว่ามีประโยชน์ รักษาโรคได้ 39 โรค ซึ่งจริงๆ กรมการแพทย์รับรองกัญชาการแพทย์เพียง 5 โรคเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม เมื่อปชป. บอกว่า เรามีจุดยืนไม่เอากัญชาเสรี ไม่เอากัญชาพี้ แต่สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ แต่กลายเป็นว่ามีคำถามโดนสึนามิกลับมา ว่า ปชป.ไปรับผลประโยชน์ใครมาต้าน แน่นอนว่า เรารับงานประชาชน  

 

“ในวาระ 2 ที่สภาฯจะพิจารณานั้น ผมจะต่อสู้ทุกมาตราที่เกี่ยวกับการพี้ หรือการสันทนาการ เพราะจากที่อ่านหลักการเหตุผลการให้มีกฎหมายกัญชาก็เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น ไม่มีกัญชาเสรี ดังนั้น เมื่อตกลงว่า จะร่างกฎหมายเป็นแบบไหนก็ต้องเป็นแบบนั้น จะเป็นอีแอบ สอดไส้ ผมไม่ยอม และจะขออภิปรายทุกมาตรการกรณีกัญชาเพื่อเสรี แต่สภาฯ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็เคารพการตัดสินใจ” นพ.บัญญัติ กล่าว

 

นพ.บัญญัติ กล่าวอีกว่า   หากกฎหมายผ่านก็ไปสู้ต่อในวุฒิสภา แต่หากไม่ผ่านจะโทษปชป.ไม่ได้ เพราะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ยกร่างบอกว่าถ้าไม่ผ่านโทษ ปชป. โทษว่าพิษภัยในสังคมเพราะ ปชป.ไปคัดค้านกฎหมาย ซึ่งไม่จริง เพราะผู้กำหนดนโยบายบอกว่า แม้ไม่มีกฎหมายนี้เขาก็คุมได้  

 

กระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ตกต่ำมาก ไม่ฟังประชาชน แต่ก็เข้าใจว่า กระทรวงฯ ลำบากใจ เพราะนโยบายเป็นอย่างนี้ ผู้กำหนดนโยบายก็อย่างนี้ กดไว้ มีแต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย จากข้างนอกถึงจะกล้าพูด ถึงเวลาที่ทุกคนต้องตื่นรู้   จริงๆ กระทรวงฯ อธิบดีต่างๆ เมื่อพูดถึงประโยชน์กัญชา 100 ครั้ง ต้องพูดการบำบัดสารเสพติดเป็น 1,000 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาพูดแต่ประโยชน์มากกว่า แบบนี้ไม่เป็นธรรมต่อวิชาการหรือไม่  ที่สำคัญรัฐบาล และสธ. ก็ไม่เคยคิดตั้งศูนย์เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตเลย แบบนี้จะรู้หรือไม่ว่า กัญชามีผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร”  นพ.บัญญัติ กล่าว

 

00 ส.ส.ผึ้ง หวั่นร่างพรบ.กัญชาฯ เอื้อเด็กพี้ในบ้าน

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีการศึกษาพบกัญชาตอบโจทย์ส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานราก แต่น้อยเพราะต้นทุนทำไม่ได้จริง ดังนั้นจึงเป็นแค่ของกลุ่มทุนใหญ่ ขณะที่ศาสนา เช่น อิสลามก็ออกประกาศชัดว่ากัญชาไม่ถือเป็นฮาลาล ยกเว้นกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ มีคนโทรศัพท์มาหาตนบอกว่า พาลูกหลานไปรพ. แต่พ่อไม่อยู่เพราไปพี้กัญชา แบบนี้ไม่ใช่แล้ว ปัญหาคือ ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ให้มีการปลูก 15 ต้น แบบนี้ถ้าควบคุมไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น  เป็นการแพทย์อย่างไร ปกป้องเด็กในพื้นที่ตรงไหน ตอนนี้กลายเป็นว่าดูแต่ประโยชน์ แต่ไม่ปกป้องเด็กในพื้นที่ กลับทำให้เด็กเติบโตและคุ้นชินกับสิ่งเสพติด ถ้าเด็กพี้ในบ้านจับไม่ได้ กฎหมายไม่ครอบคลุมจะเกิดอะไรขึ้น

“หากกฎหมายไม่ควบคุม แล้วเด็กๆ กลับไปพี้กัญชาในบ้านได้ แบบนี้ถูกต้องหรือไม่  หมอที่ออกมาสนับสนุน จากที่ควร No Harm ประชาชน แต่กลับ Do Harm กับประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ไม่ค่อยมีเจตนารมณ์ที่จะปกป้องเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ดูแต่ประโยชน์ที่จะได้ แต่ไม่ดูข้อเสีย ไม่ดูต้นทุนที่จะเสียไปของสังคม ต้นทุนในการปกป้องยาเสพติดเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่งในประเทศไทย ดังนั้นตนไม่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเรา สังคม นี่คือปัญหาใหญ่ ปัญหายาเสพติดอยู่ในบ้านควรเกิดขึ้นหรืออย่างไร” ดร.พิมพ์รพี กล่าว

 

00 อ.นิติศาสตร์ มธ.เผยกฎกระทรวงคุมช่อดอกควรต้องคุมเข้มทั้งต้น เพราะส่วนอื่นๆก็มี THC

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การประกาศคุมช่อดอก เป็นการออกค่อนข้างผิดเพี้ยน โดยหลักของสมุนไพรควบคุม ต้องคุมทั้งต้น คือ ต้นกัญชา ไม่ได้คุมเฉพาะช่อดอก เพราะถ้าคุมเฉพาะช่อดอก แล้วส่วนอื่นๆ ซึ่งมีสาร THC อยู่ ก็สามารถเกิดฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้    ดังนั้นเนื้อหาประกาศที่ออกที่ออกมาใหม่มีลักษณะเอื้อให้ใช้เพื่อสันทนาการ ว่าถ้าคนอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ขออนุญาต ก็ได้ ซึ่งตีความได้ การออกประกาศนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาไม่เหมาะสม   

 

00 หมอสมิทธิ์ เผยรวบรวมรายชื่อค้านกัญชาล่าสุดได้ 1.8 หมื่นคน เป็นแพทย์ 1.6 พันคน

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กล่าวว่า ขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะร่วมกันค้านผ่านเว็บไซต์ CHANGE ได้ 1.8 หมื่นคน รายชื่อแพทย์ 1.6 พันคนที่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่  9 มิ.ย.ที่การปลดออกจากยาเสพติดมีผลบังคับใช้นั้น ทำให้ประเทศไทยมีการใช้กัญชาเสรีที่สุดในโลก ไม่มีการควบคุมอะไร ล่าสุดประกาศที่ออกมาก็คุมแค่ช่อดอกเท่นั้น ส่วนอื่นๆ เช่น ใบ ใช้ได้ปกติ ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังจะพิจารณา ดูแล้วการควบคุมยังต่ำกว่าประเทศที่เสรีสันทนาการด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอ้างออกกฎหมายเพื่อการแพทย์ เช่น แคนนาดา ให้ปลูกแค่ 4 ต้น อุรุกกวัยห้ามโฆษณา

“ผมจึงต้องออกมาพูด เพราะการปล่อยเสรีเกินไป จริงๆ ส่วนตัวยอมรับได้หากเสรีสันทนาการ แต่ต้องควบคุม  ไม่ใช่ให้พ่อแม่ใช้ในบ้านแล้วเด็กก็เห็น ซึ่งในบางประเทศห้ามใช้กัญชาต่อหน้าเด็ก แต่บ้านเราไม่มี  นอกจากพ.ร.บ.กัญชาต้องปรับปรุงแล้ว ยังจำเป็นต้องเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะกว่า ร่าง พ.ร.บ.จะออกมาก็นาน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว

 

00 "หมอบัณฑิต" ไม่หนุนไทยใช้กัญชานันทนาการ ย้ำ! อย่าหลงกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ

ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Center for Addiction and Mental Health ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ไทยจะใช้กัญชาเพื่อเสรีนันทนาการ   การที่แคนาดา และอุรุกกวัยที่เสรีนันทนาการเพราะเขามีการใช้มากถึง 14% คุมไม่อยู่ จึงต้องเอาขึ้นมาบนดินเพื่อเก็บภาษี แต่ก็ยังมีการควบคุมการปลูก 4 ต้น มิดชิด ไม่โฆษณา ห้ามให้เด็กเห็น แต่ประเทศไทยมีการใช้เพียง 0.2% คือ 100 คนมีคนใช้ 0.2 คน จึงไม่จำเป็นต้องเสรีเพื่อสันทนาการ ย้ำว่ากัญชามีชื่อดี เพราะมีสาร CBD  ซึ่งมีในใบ ส่วนดอกนั้นจะมี THC สูง 10-12 % แม้แต่แพทย์แผนไทยยังใช้เป็นตำรับที่มีสมุนไพรตัวอื่นร่วมด้วย   

“กัญชาเพื่อนันทนาการ เป็นการใช้ดอกเป็นหลัก เพราะมี THC ถึง 10-12%  ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า THC เกิน 0.2% เป็นยาเสพติด แต่กลับไม่กำหนดค่าในช่อดอก ที่มีค่า THC สูง คนที่เอามาใช้นันทนาการจึงไม่ต้องสกัด ใช้ดอกเลย ตรรกะผิดหมด” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว และว่า ไทยอย่าหลงคำว่า กัญชาเพื่อเศรษฐกิจ ต้องถามกลับว่าเพื่อทางการแพทย์หรือไม่ ถ้าอย่างอื่นๆ ต้องคิดให้รอบคอบ

 

00  ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ชี้กัญชา ก่อโรคจิตเวชเพียบ! พบปัญหาหูแว่วประสาทหลอน

ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนยืนยันไม่เห็นด้วยกับนันทนาการ ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวในเอเชียยอมรับ เพราะการใช้ชีวิตต่างจากตะวันตก ถ้าบอกว่าเพื่อเศรษฐกิจ ก็ต้องมองว่าประเทศเสือเศรษฐกิจมีประเทศไหนเล่นกัญชาบ้าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไม่มีใครเอา   ดังนั้น ถ้าเพื่อเศรษฐกิจ ยอมรับมีเงินหมุนเวียนในประเทศ แต่อย่าหวังเอาไปขายต่างประเทศเพราะกัญชาที่ออกมาไม่ได้เกรดทางการแพทย์ตามประกาศสธ. สิ่งที่ได้คือแคดเมียม ตะกั่ว จึงอย่าหวังว่าจะมีประเทศไหนซื้อกัญชาคุณภาพแบบนี้จากประเทศไทย  

“ส่วนปัญหากัญชากับโรคทางจิตเวชนั้นมีมาก คนที่บอกว่าเอาไปใช้เพื่อการนอนหลับดี หรือ รักษา 39 โรคนั้น แต่พอเกิดปัญหาหูแว่วประสาทหลอนเขาไม่ได้ไปหาคนพูด แต่มาหาจิตแพทย์ ซึ่งเจอเยอะ ซึ่งในไทยไม่มีการรวบรวมข้อมูล แต่ที่เดนมาร์คมีการรายงานในวารสารวิการพบว่ามีโรคจิตเวชจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 1995 เป็น 10% ในปี 2010 จึงต้องควบคุมการใช้” ศ.นพ.มานิต กล่าว

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org