ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุน นโยบายเร่งผลิตจิตแพทย์ ลดปัญหาขาดแคลน เพื่อดูแลสุขภาพใจประชาชนให้ทั่วถึงโดยเร็ว 

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบนโยบายให้ กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาจำนวนจิตแพทย์ไม่เพียงพอรองรับการดูแลสุขภาพจิตและจิตเวช ขยายกรอบอัตรกำลังและมีแผนขยายการฝึกอบรม ร่วมประชุม           หาแนวทางร่วมกับภาคีเครือข่ายในการผลิตจิตแพทย์ ตั้งเป้าเพิ่มจิตแพทย์อีก 400 คนภายใน 5 ปี ให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการตามการรักษาจากทุกสิทธิ์รวมกันทั้งสิ้น 2,519,255 คน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 มีแนวทาง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”นั้น คาดการณ์ว่า   ผู้เสพยาเสพติดจะมีประมาณ 1.9 ล้านคน จำแนกตามลักษณะความรุนแรงของการเสพติดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้เสพติด ประมาณ 35,000 คน ที่ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูระยะยาวโดยส่งต่อสถานบริการหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีจิตแพทย์ให้การดูแลรักษาต่อเนื่อง 2.กลุ่มผู้เสพ ประมาณ 4.56 แสนคน

กลุ่มนี้ควรเข้าการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยสถานพยาบาลในพื้นที่โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ผู้ผ่านการอบรมและมีจิตแพทย์ของจังหวัดเป็นพี่เลี้ยง และ 3.กลุ่มผู้ใช้ ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถดูแลได้ในพื้นที่ด้วยกลไกชุมชนที่บูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ทีมสาธารณสุข 3 หมอ ได้แก่ รพช. รพ.สต.และอสม.ซึ่งดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดในชุมชน ได้ร่วมจัดทำแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่วมกับจิตแพทย์ในแต่ละจังหวัดและเขตสุขภาพในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ทำให้เกิดการดูแลต่อเนื่องเชื่อมโยงในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดวางกลไกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โดยขณะนี้ สป.ได้เปิดหอผู้ป่วยในผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ณ รพศ.และรพท.แล้วจำนวน 33 จังหวัดใน 11 เขตสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 42.9 ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และยังจัดตั้งกลุ่มงาน   จิตเวชและยาเสพติด ใน รพช.จำนวน 268 แห่งหรือร้อยละ 34.58 ช่วยรองรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลบำบัดต่อเนื่องใกล้บ้านทำให้การบริการไร้รอยต่อ ผู้ป่วยฟื้นสุขภาวะที่ดีและอยู่ได้ในสังคมอย่างสุขสงบ ทั้งนี้ในวันที่ 24-25 พย.ที่ผ่านมา

กรมสุขภาพจิตจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉินและยาเสพติด ณ รร.ไมด้า แกรนด์ ทราวดี จังหวัดนครปฐม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับสูงและผู้บริหาร รพศ.และ รพท.ต่างร่วมใจมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย สธ. เร่งเพิ่มศักยภาพบุคลากรและสถานที่ให้พร้อมบริการดูแลแบบผู้ป่วยจิตเวชแบบผู้ป่วยในให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 นี้ อย่างไรก็ตาม การเปิดหอผู้ป่วยในรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดใน รพศ.และ รพท.

ต้องอาศัยอัตรากำลังจิตแพทย์ที่พอเพียงในการปฏิบัติงานบำบัดผู้ป่วยอย่างเข้มข้นจนอาการฉุกเฉินทุเลาแล้วพิจารณาส่งต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ใน รพช.ทุกแห่งที่ต้องมีจิตแพทย์ในจังหวัดหรือเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยงในการจัดระบบบริการรับ-ส่งต่อดูแลต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในพื้นที่ได้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงสนับสนุนกรอบอัตรากำลังจิตแพทย์และมีแผนขยายการฝึกอบรมจิตแพทย์ให้สามารถเอื้อการผลิตจิตแพทย์ได้โดยเร็วยิ่งขึ้น       

แพทย์หญิงอัมพร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังขาดแคลน โดยปัจจุบันมีจิตแพทย์ภาพรวมที่ให้บริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพียง 822 คน จำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไป จำนวน 632 คน ร้อยละ 76.9 และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จำนวน 190 คน ร้อยละ 23.1 อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ 1.25 คน ต่อแสนประชากรในปี 2565  โดยกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆได้แก่ กรุงเทพมหานคร 367 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 114 คน ภาคกลาง(รวมตะวันตก) 112 คน ภาคเหนือ 103 คน ภาคใต้ 83 คน และภาคตะวันออก 43 คน

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์   เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆได้ 

กระทรวงสาธารณสุข ใส่ใจ ตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาระบบและศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวช ที่ครอบคลุม มีคุณภาพ แก่ผู้รับบริการ ครอบครัว ชุมชนและสังคม พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต ส่งเสริมการผลิตจิตแพทย์ เพื่อประชาชน