ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปลี่ยนนโยบายรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างกะทันหันของจีนหลังจากพยายามควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์มากว่า 3 ปีสร้างความกังวลว่าจีนอาจเจองานหิน เนื่องจากทางการไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับให้กับระบบสาธารณสุขที่อาจตึงมือจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (ผู้ที่อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 40%)

ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงปักกิ่งเริ่มขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้ว เนื่องจากทั้งแพทย์และพยาบาลพากันติดเชื้อ จนบางแห่งต้องยกเลิกการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินเพื่อให้มีเจ้าหน้าที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อก็ยังต้องทำงานตามปกติ

การกลับลำนโยบายอย่างปัจจุบันทันด่วนทั้งที่ยังไม่มีการสื่อสารหรือให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสกับประชาชนก่อนทำให้ชาวจีนหลายคนยังกลัวโควิด-19 อยู่ ทั้งยังทำให้ชาวบ้านไม่ทันได้เตรียมยาในกรณีที่ตัวเองติดเชื้อ อีกทั้งภาวะขาดแคลนยาในร้านขายยายังส่งผลให้ผู้ป่วยต้องต่อคิวยาวในคลินิกรักษาไข้หวัดของโรงพยาบาล หรือบางคนถึงขั้นเรียกรถพยาบาล จนสื่อของรัฐและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องขอร้องไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก และรักษาอาการของตัวเองที่บ้านแทนการเรียกรถพยาบาล แม้ว่าจะป่วยหนักก็ตาม

หลี่ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสุขภาพของกรุงปักกิ่งเผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ (11 ธ.ค.) มีผู้ป่วยใช้บริการคลิกนิกโรคไข้หวัดถึง 22,000 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขผู้ใช้บริการเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า 16 เท่า เช่นเดียวกับการเรียกรถพยาบาลที่พุ่งกระฉูดไปแตะ 31,000 ครั้งเมื่อวันศุกร์ (9 ธ.ค.) สูงกว่าระดับปกติ 6 เท่า

แนวทางของจีนในขณะนี้แตกต่างจากแนวทางของสิงคโปร์ หรือนิวซีแลนด์ ที่ปรับเปลี่ยนแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปด้วยการผ่อนคลายเป็นระยะ และมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเพื่อลดการเสียชีวิต ถึงกระนั้นในช่วงนั้นระบบสาธารณสุขของทั้งสองประเทศข้างต้นก็ยังตึงเครียดเนื่องจากการติดเชื้อพุ่งสูงหลังจากคลายล็อกดาวน์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความคิดเห็นต่อการยกเลิกมาตรการคุมโควิดให้เป็นศุนย์ของจีน อาทิ มาร์กาเร็ต แฮร์ริส  โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยถึงการเปลี่ยนนโยบายของจีนเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ว่า จีนเผชิญกับ “ช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆ มันยากลำบากเสมอสำหรับประเทศใดๆ ที่กำลังออกจากสถานการณ์ที่คุณควบคุมอย่างเข็มงวดมากๆ...เราเคยพูดก่อนหน้านี้ว่า อย่าล็อกดาวน์ง่ายเกินไปและเร็วเกินไป เพราะมันยากมากๆ ในการออกมา...มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณต้องดำเนินการในระดับชุมชน ระดับโรงพยาบาล ระดับชาติ เพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้”

สำนักข่าว Reuters ได้รวบรวมการคาดการณ์จากที่ต่างๆ เกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หากจีนผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดเต็มรูปแบบ เริ่มจาก Airfinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลวิทยาศาสตร์สัญชาติอังกฤษระบุว่า จีนอาจมียอดผู้เสียชีวิต 1.3-2.1 ล้านคน หากยกเลิกนโยบายซีโรโควิด เนื่องจากจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ และยังขาดการมีภูมิต้านทานแบบลูกผสมทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อ

ส่วน โจวเจียตง หัวหน้าศูนย์ควบคุมโรคของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ใน Shanghai Journal of Preventive Medicine เมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนอาจมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน และอาจมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 233 ล้านคน หากผ่อนคลายนโยบายควบคุมโควิดไปในแนวทางเดียวกับที่ฮ่องกงทำในปีนี้

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จีนและสหรัฐฯ ประเมินว่า จีนอาจมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 กว่า 1.5 ล้านคน หากยกเลิกนโยบายซีโรโควิดโดยไม่มีมาตรการอื่นๆ รองรับ เช่น การเร่งฉีดวัคซีน และการเพิ่มการเข้าถึงการรักษา ทั้งยังคาดการณ์ว่าอาจมีความต้องการใช้ห้องไอซียูสูงถึงกว่า 15 เท่า ของห้องไอซียูที่มีทั้งหมดในจีน

เฝิงจื่อเจี้ยน อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนเผยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ว่า ประชากรจีนมากถึง 60% อาจติดเชื้อในช่วงพีคของระลอกแรก ด้าน แซม ฟาเซลี หัวหน้าเภสัชวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence เผยว่า การเปิดประเทศของจีนอาจส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลราว 5 ล้านคน และเสียชีวิตอีก 700,000 คน

ส่วน จอห์น วอลดรอน ประธานโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป คาดการณ์ว่า จีนอาจเผชิญการเปิดประเทศที่ “ไม่ราบรื่น” ที่เป็นเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับ Nomura International ที่เตือนว่า จีนกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่เจ็บปวดเนื่องจากดูเหมือนว่าจะไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างดีสำหรับการติดเชื้อระลอกใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Photo

 https://en.wikipedia.org/wiki/File:2020-1-23_%E6%B9%96%E5%8C%97%E9%BB%84%E5%86%88%E9%BB%84%E5%B7%9E%E5%8C%BA%E7%9A%84%E4%B8%80%E4%B8%AA%E5%85%AC%E4%BA%A4%E8%BD%A6%E4%B8%8A.jpg