ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดที่เข้มงวดของรัฐบาลสร้างความโล่งใจให้ชาวจีนจำนวนมากที่อึดอัดกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติมาเป็นเวลานาน แต่การเปลี่ยนแปลงกะทันหันนี้กลับสร้างความกังวลในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เปราะบาง  เพราะยังมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ตัวเลขของทางการจีนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนระบุว่า 66% ของผู้ที่อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปเพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรก และข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่า จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 40% เท่านั้น

เบ็น คาวลิง ผู้อำนวยการฝ่ายระบาดวิทยามหาวิทยาลัยการแพทย์ฮ่องกงเผยว่า การขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้สูงอายุไม่แน่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน โดยเฉพาะประสิทธิภาพในระยะยาวของวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนที่ใช้อย่างแพร่หลายอย่าง Sinovac และ Sinopharm

สอดคล้องกับรายงานเมื่อเดือนกันยายนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนที่บอกว่า อัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุของจีนยังต่ำกว่าประเทศอื่น เพราะบรรดาผู้สูงอายุไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งการฉีดวัคซีนของจีนในช่วงแรกเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18-59 ปีก่อน ก่อนจะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ จึงไม่แปลกที่ประชากรกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนน้อย

ผลการวิจัยหลายชิ้นออกมาว่าวัคซีนเชื้อตายของจีนให้การป้องกันระยะยาวที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และป้องกันกรณีรุนแรงและการเสียชีวิตน้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี mRNA จากต่างประเทศ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนของจีนไม่มีประโยชน์

ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงในปีนี้พบว่า วัคซีนของ Sinovac 3 เข็มป้องกันอาการรุนแรงได้ดีมาก รวททั้งในกลุ่มผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

สีเฉิน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์เยลเผยว่า แม้ว่าวัคซีนที่ผลิตในจีนเอง 3 เข็มจะช่วยลดการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จีนควรใช้วัคซีน mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระยะยาวด้วย

ที่ผ่านมาจีนยืนยันที่จะใช้วัคซีนที่พัฒนาขึ้นเองเป็นหลัก และอนุญาตให้มีการนำเข้ายารักษาโควิด-19 เพียงไม่กี่ตัว หนึ่งในนั้นคือ แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ โดยจำกัดการใช้เฉพาะในโรงพยาบาลสำหรับจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

ทว่ามีสัญญาณที่ดีว่าจีนอาจไฟเขียวให้ใช้วัคซีนจากตะวันตกในเร็วๆ นี้

ขณะนี้วัคซีนของ BioNTech เป็นวัคซีน mRNA ตัวแรก และเป็นวัคซีนตัวแรกที่พัฒนาขึ้นในต่างประเทศ ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าวัคซีนนี้จะใช้ได้กับชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ที่นั่นก็ตาม โดย Financial Times รายงานว่า จีนอนุมัติวัคซีนดังกล่าวเพื่อแลกกับการที่ทางการเยอรมนีอนุมัติการใช้วัคซีนของ Sinovac สำหรับพลเมืองจีนในเยอรมนี

ขณะนี้บริษัทสัญชาติจีนหลายแห่งกำลังพัฒนาวัคซีน mRNA แต่ยังไม่มีเจ้าไหนได้รับการอนุมัติจากทางการจีนเลย กลับเป็นอินโดนีเซียเสียอีกที่กลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีน mRNA ที่ผลิตโดยจีนของบริษัท Walvax เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ขณะที่บริษัท Fosun Pharmaceuticals ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายวัคซีนของ BioNTech แต่เพียงผู้เดียวในจีนแผ่นดินใหญ่ และสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดสตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 แต่จนถึงขณะนี้คำขออนุญาตใช้วัคซีนที่ยื่นต่อทางการยังติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในวงกว้างเมื่อใด (ฮ่องกงอนุมัติวัคซีนของ BioNTech แล้ว)

การที่จีนตัดสินใจอนุมัติให้ใช้วัคซีนของ BioNTech ในประชากรกลุ่มเล็กๆ เน้นย้ำให้เห็นว่าจีนไม่สะดวกใจที่จะใช้วัคซีน mRNA จากตะวันตก ซึ่งหวง, เจ. สตีเวน มอร์ริสัน และสกอตต์ เคนเนดี เขียนแสดงความห็นต่อนโยบายซีโรโควิดสำหรับศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติไว้ว่า “ชาตินิยมมีบทบาทสำคัญ นั่นหมายความว่าวิธีแก้ปัญหาของตะวันตกในรูปแบบของวัคซีน mRNA และยาต้านไวรัสที่ตะวันตกเป็นเจ้าของนั้นอยู่นอกขอบเขต”

และความเป็นชาตินิยมนี้อาจต้องแลกมาด้วยชีวิตนับล้านของชาวจีนเอง

ก่อนหน้านี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้สร้างแบบจำลองการระบาดของโควิด-19 ในจีน และเผยแพร่ข้อมูลในวารสารการแพทย์ Nature Medicine เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ไว้ว่า หากจีนยกเลิกมาตรการคุมโควิด-19 แบบเข้มงวดในช่วงที่ยังไม่มีการใช้ยาต้านไวรัสในจีน อาจทำให้มีชาวจีนเสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคนภายในเวลา 6 เดือน

แต่หากมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุม และขยายการใช้ยาต้านไวรัสได้เป็นวงกว้าง อัตราการเสียชีวิตอาจลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดตามฤดูกาล

 

Photo

https://en.wikipedia.org/wiki/File:Check_for_2019nCoV_in_Jishuitan_metro_station_(Beijing).jpg