ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต อาทิ ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่โควิด-19 ระบาด ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 25% ตั้งแต่ปีแรกที่โรคนี้ระบาด หลังจากการระบาดเริ่มคลี่คลายก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกดีขึ้นในทันทีทันใด ภาวะซึมเศร้าจึงกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปอีกหนึ่งโรค

แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ โรคนี้ได้รับการวินิจฉัยน้อยมาก หลายคนที่มีภาวะนี้มักจะไม่รู้ตัว หรือหากรู้ว่าตัวเองซึมเศร้าการเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอาจต้องใช้เวลารอนานเป็นเดือน

ปัญหานี้ทำให้เกิดสตาร์ตอัพสายสุขภาพจิตที่ชื่อว่า Kintsugi (คินสึงิ) ที่พัฒนาเทคโนโลยีดัชนีชี้วัดทางชีวภาพของเสียง (voice biomarker) ที่สามารถตรวจจับความกังวลหรือซึมเศร้าจากน้ำเสียงโดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 20 วินาที ด้วยความแม่นยำถึง 80%

ซอฟต์แวร์ของ Kintsugi จะถูกนำไปรวมเข้ากับคอลเซ็นเตอร์ของคลินิก บริการสุขภาพทางไกล และแอปตรวจสอบระยะไกลเพื่อคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยที่ติดต่อขอรับการสนับสนุน ช่วยให้ผู้ให้บริการประเมินความต้องการและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น

ชื่อ Kintsugi นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามเซรามิกที่แตกร้าวของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมายาวนานด้วยการใช้รักทองเชื่อมชิ้นส่วนที่แตกเข้าด้วยกัน รอยแตกซึ่งเปรียบเสมือนความไม่สมบูรณ์นั้นก็จะกลับมาสวยงามอีกครั้ง ตามปรัชญาความเชื่อว่าถ้วยชามที่แตกไม่ควรถูกทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมให้พวกมันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ที่ควรได้รับการเยียวยาจิตใจให้กลับมาดีดังเดิม

เกรซ จาง และริมา เซอิโลวา โอลสัน สองสาววิศวกรซึ่งเคยมีประสบการณ์ป่วยซึมเศร้าและต้องเจอกับความยุ่งยากในการรักษาร่วมกันสร้าง API (ตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่าง “ผู้ใช้บริการ” กับ “ผู้ให้บริการ” โดยทั้งสองต่างเป็นโปรแกรมด้วยกันทั้งคู่ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลบางอย่าง API จะทำหน้าที่ส่งต่อคำขอไปยังผู้ให้บริการและส่งข้อมูลกลับมาที่ผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัติ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ให้บริการจะต้องยินยอมเปิดข้อมูลนั้นเพื่อให้นำไปใช้ได้)

ทำไมต้องเป็นเสียง?

เซอิโลวา โอลสันบอกว่า คนที่รู้สึกเศร้าน้ำเสียงจะต่ำซึ่งเป็นเรื่องที่แพทย์สังเกตเห็นมานานหลายทศวรรษแล้ว นี่คือเรื่องจริงไม่ว่าจะพูดภาษาใดหรือมีวัฒนาธรรมแบบใด และดูเหมือนจะเป็นปฏิกิริยาสากลที่มนุษย์แสดงออกเมื่อมีภาวะซึมเศร้า

“Psychomotor retardation คือปฏิกิริยาที่ความคิดและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช้าลง เป็นมันเป็นสากลไม่ว่าคุณจะเกิดที่ไหนหรือพูดภาษาอะไร” เซอิโลวา โอลสันเผย

Kintsugi ใช้เทคโนโลยีสร้างแบบจำลองแมชชีนเลิร์นนิงที่มีตัวอย่างจำนวนมากเกินกว่าที่แพทย์แต่ละคนจะพบเจอได้ตลอดชีวิต ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ Kintsugi จะฟังและวิเคราะห์น้ำเสียง หลังผ่านไป 20 วินาที AI จะประเมินระดับความซึมเศร้าซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ PHQ-9 (0-27 โดยคะแนนยิ่งสูงยิ่งบ่งบอกถึงความรุนแรง) และ GAD-7 (0-21 โดยคะแนนยิ่งสูงยิ่งบ่งบอกถึงความรุนแรง)

หลังจากผู้ป่วยอนุญาตแล้วผู้เชี่ยวชาญจะได้รับคะแนนดังกล่าวเพื่อตัดสินใจต่อว่าผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจประเมินเพิ่มเติม หรือจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมอย่างไร หรือควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านใดต่อ เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด โดยคะแนนของผู้ป่วยรวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับการปกป้องอย่างดีจาก Kintsugi

ปัจจุบันนี้ kintsugi มีผู้ใช้บริการในกว่า 250 เมืองทั่วโลก และมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 100,000 ครั้ง และ เพรนทิซ ทอม หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของ Kintsugi เผยว่า บริษัทกำลังร่วมงานกับมหาวิทยาลัยอาร์คันซอเพื่อสำรวจว่าเครื่องมือนี้สามารถนำมาใช้เพื่อระบุผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นหรือรุนแรงได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

เมื่อปีที่แล้ว Kintsugi ได้รับเงินจากการระดมทุนรอบแรก 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยี AI ที่โดดเด่นหลายรางวัล รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในบริษัทด้าน AI 50 อันดับแรกที่น่าจับตามองในปี 2022 ของนิตยสาร Forbes