ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ เตรียมจัดทำข้อมูล “ผู้สูงอายุ” ใช้เป็นมาตรฐานบ่งชี้ความเสื่อมถอยแต่ละช่วงอายุ เพื่อดูแลวัยอย่างเหมาะสม หากทำสำเร็จจะเป็นฐานข้อมูลครั้งแรกของไทย

  

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดเกณฑ์ "ผู้สูงอายุ" ซึ่งอาจจะมีการเสนอเป็นวาระแห่งชาติให้ขยายเป็นมากกว่า 60 ปี ว่า ปัจจุบันเรากำหนดผู้สูงอายุด้วยตัวเลข ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมต้องเป็นตัวเลข 60 ปี แต่เมื่อก่อนอาจบอกว่า เพราะอายุขัยเฉลี่ยน้อย คนตายเร็วกว่าปัจจุบันนี้ จึงกำหนดผู้สุงอายุที่ 60 ปี แต่ข้อมูลปัจจุบันจริงๆ ว่าอายุของผู้สูงอายุควรจะเป็นเท่าไรยังไม่มีใครตอบได้ ซึ่งหลายประเทศก็มีแนวทางจะขยายอายุผู้สูงอายุออกไป เช่น ฝรั่งเศสเคยจะขยายอายุ 63 ปี แต่ส่วนใหญ่การขยายจะมาจากเรื่องของเงินและกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณที่ไม่เพียงพอ อย่างข้าราชการเกษียณอายุก็กินบำนาญ แต่ก็ยังต้องให้เงินเดือนข้าราชการใหม่ และมีการเพิ่มเงินเดือนอีก อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเรื่องสูงอายุไม่ควรมองที่ตัวเลข แต่ควรมองที่ศักยภาพและสมรรถภาพร่างกายของคนนั้นว่าเป็นอย่างไร เข้าข่ายสูงอายุหรือมีความเสื่อมถอยของร่างกายแล้วหรือไม่

 

"ที่ผ่านมาเราจะมีข้อมูลชัดเจนและเป็นมาตรฐานในส่วนของเด็ก คือ มีสมุดสีชมพู ที่จะระบุได้เลยว่าเด็กช่วงอายุวัยไหนพัฒนาการควรเป็นอย่างไร น้ำหนักตัว ส่วนสูงควรเป็นอย่างไร อายุเท่านี้สามารถทำอะไรได้ เพราะเรามีข้อมูลมีองค์ความรู้และทำเรื่องนี้กันมานานมาก แต่ในส่วนของผู้สูงอายุยังไม่มีข้อมูลมาตรฐานทางการว่า อายุเท่าไรต้องทำอะไรได้บ้าง เช่น อายุ 60 ปี 63 ปี 65 ปี ยังต้องทำอะไรได้ หากไม่สามารถทำได้ก็แสดงว่ามีความเสื่อมถอยแล้ว จำเป็นต้องดูแลเพื่อชะลอการเสื่อมถอยของร่างกาย" นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ทำการวิจัยในเรื่องนี้ ว่าผู้สูงอายุไทยแต่ละช่วงวัยควรมีศักยภาพหรือสมรรถภาพร่างกายสามารถทำสิ่งใดได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล 3-5 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นของคนไทย อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้เป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย โดยกรมการแพทย์ได้จัดคลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มแล้วที่ รพ.ราชวิถี  จะเป็นการคัดกรองดูความเสื่อมถอยของร่างกายแบบองค์รวม ไม่ใช่การเปิดฟาสต์แทร็กเพื่อให้ผู้สูงอายุมารักษาหรือมาหาว่าเป็นโรคอะไร

โดยการคัดกรองความเสื่อมถอยมี 9 ด้าน คือ 1.การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อขาสามารถเตะน้ำหนักแค่นี้ได้กี่ครั้ง ถ้าทำไม่ได้อาจเริ่มมีความเสื่อม ต้องไปเพิ่มกิจกรรมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้เกิดการล้ม 2.การขาดสารอาหาร 3.การมองเห็น เช่น ตาฝ้าฟางหรือยัง 4.การได้ยิน เช่น ระยะเท่านี้ยังได้ยินหรือไม่  5.ภาวะซึมเศร้า 6.การกลั้นปัสสาวะ 7.ความคิดความจำ ก้จะใช้ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตมาดูว่าความจำยังดีหรือไม่ หากเริ่มจำไม่ดี มีกิจกรรมช่วยชะลอไหม อย่าง เล่นซูโดกุ เป็นต้น 8.การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และ 9.สุขภาพช่องปาก

 

"เราทำมาตรฐานให้รู้ว่าคลินิกสูงอายุ ควรมีมาตรฐานอะไร และหลายๆ อย่างจะมีความสัมพันธ์กัน อย่าง เรื่องฟันสุขภาพช่องปาก สูงอายุฟันไม่ค่อยดี กินไม่ได้ ก็ทำให้ขาดสารอาหารโดยไม่รู้ตัว กล้ามเนื้อไม่มีแรง ก็ล้มง่าย เรียกว่าคลินิกจะดูครบวงจร พอเจอว่าเป็นโรคเลยก็จะส่งรักษาเฉพาะทาง ถ้าไม่เป็นโรค เริ่มมีความเสื่อม ก็จะมีกิจกรรมให้ทำ เพื่อไม่ให้เสื่อมเร็ว โดยอนาคตจะมีการขยายคลินิกผู้สูงอายุมากขึ้น" นพ.ธงชัยกล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org