สสส-AIS-Understand เปิดตัว YouTube channel “บ่อจอย” พร้อมเพิ่มช่องทาง AIS PLAY ส่งข้อมูลด้านสุขภาพจิตยุคใหม่ของคนวัยทำงาน หลังพบมีปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงกว่าประชากรวัยอื่นถึง 3 เท่า!!
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด และเพจ Understand แถลงข่าวเปิดตัว YouTube channel “บ่อจอย” เพื่อส่งต่อความรู้สุขภาพจิตในรูปแบบ Edutainment เพิ่มช่องทางการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.เร่งดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่งเน้น “สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ก่อนเจ็บป่วย” โดยสนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคล สังคม และนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ทันสมัย ตอบสนองต่อสถานการณ์สังคม ผลักดันนโยบายที่เน้นการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้งสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านให้ประชาชนตลอดช่วงวัยมีศักยภาพทางจิตใจ สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ความเครียด มีความสามารถรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ ร่วมทั้งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินงานด้านอื่นๆ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมและวิถีชีวิตเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตของประชาชน
“วัยทำงานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศ เป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตด้วยระบบ Mental Health Check-in ในปี 2564 พบว่า สุขภาพจิตประชากรวัยทำงานตอนต้นช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี มีปัญหาภาวะเครียดสูงถึงร้อยละ 29.76 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 33.99 เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 19.19 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ 15.22 ซึ่งโดยรวมเป็นอัตราส่วนของปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่นประมาณ 3 เท่า นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล สสส.จึง “สานพลังสร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข” ด้วยการสนับสนุนการสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพจิตในรูปแบบที่น่าสนใจให้กับกลุ่มวัยทำงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ มุ่งหวังให้เกิดแนวทางสร้างทุนทางจิตวิทยาเชิงบวกให้กับประชาชน ให้มีความหวัง (Hope) มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง (Efficacy) มีความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) และสามารถมองโลกในแง่ดี (Optimisim) ได้อย่างเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนซับซ้อนผันผวน” นายชาติวุฒิ กล่าว
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล นอกเหนือจากการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนและยกระดับการสื่อสาร และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้เพื่อปลูกจิตสำนึก สื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับทักษะพลเมืองในยุคดิจิทัลทุกแง่มุม ผ่าน โครงการอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีทั้งการย้ำเตือนเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ และการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ โดยความ ร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างยิ่งและเชื่อมั่นว่า จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะทางจิตให้แก่คนไทย ทั้งนี้ AIS ยินดีเป็นช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวผ่านทาง AIS PLAY ซึ่งเป็น Streaming Platform โดยไม่คิดค่าบริการ Content ดูฟรีทุกเครือข่าย (คิดค่าบริการดาต้าตามแพ็คเกจการใช้งานของแต่ละท่าน) โดยสามารถรับชมได้ในทุกช่องทางทั้ง แอปพลิเคชั่น AIS PLAY ดาวน์โหลดได้ที่ https://m.ais.co.th/lp ทั้ง Apple App store, Google Play Store รับชมผ่านกล่อง AIS PLAYBOX, SAMSUNG Smart TV, Apple TV และเว็บไซต์ aisplay.ais.co.th รวมถึง YouTube ช่องบ่อจอย หวังว่า ช่องทาง AIS PLAY จะเป็นคอมมูนิตี้และพื้นที่ส่งต่อองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับผู้คนไทยในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทย
นางสาวดลพร นิธิพิทยปกฤต ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Understand กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สสส.จัดทำโครงการพัฒนาและสื่อสารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในวัยทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาพจิตเชิงบวกประชาชนวัยทำงานนำไปสู่การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านทาง YouTube channel เนื่องจากเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยในกลุ่มวัยทำงานใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตที่มีความยาวและรายละเอียดได้มาก สามารถสื่อสารกับประชาชนผ่านทางการแสดงความคิดเห็นของผู้รับชมได้ โดย YouTube channel ช่อง “บ่อจอย” ประกอบด้วย 3 รายการ 1.รายการ iUV Day ดำเนินรายการด้วยวิธี Experimental psychology ที่เน้นใช้การทดลองทางสังคมกับกลุ่มตัวอย่าง 2.รายการ Imposter การสนทนารอบวง นำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพจิตผ่านการให้อาชีพต่างๆ มาพบกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยมีการแฝงตัวแบบ imposter 3.รายการ Kinjai การพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา นำเสนอการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและสภาพปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันผ่านการพูดคุยประเด็นด้านสุขภาพจิตอย่างง่ายๆ ในบรรยากาศสบายๆ ในร้านอาหาร
“ปัจจุบัน YouTube channel จัดเป็นโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง ซึ่งรายการที่นำมาจัดวางอาจมีความแตกต่างกันในแง่การนำเสนอ เนื้อหาสาระ เป้าหมายของสื่อ และกลุ่มของผู้รับชมได้ การที่มีช่องทางเช่นนี้จะช่วยทำให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชได้เป็นจำนวนมาก สามารถปรับเนื้อหาตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วให้มีความทันสมัย และแก้ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจาก สสส. ในการวางแผนขับเคลื่อนโครงการฯ และข้อมูลจากการแนะนำโดยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิต และวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้ง 3 รายการจะได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง AIS PLAY อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน” นางสาวดลพร กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 158 views