ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี พร้อมจับมือหมอจักษุแพทย์อุดรธานี จัดหน่วยเคลื่อนที่คัดกรองเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติเชิงรุก ใครสายตาสั้นได้แว่นฟรีจาก สปสช. 1 อันต่อปี หลังสปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์แว่นสายตาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ มอบเป็นของขวัญเด็กปี 66

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี พร้อมด้วยคณะบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อ.นายูง จ.อุดรธานี เพื่อสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ หลังจากที่ สปสช.ได้เพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์โครงการเด็กไทยสายตาดี ปี 2565 มอบแว่นตาเพื่อแก้ปัญหาให้กับเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 3-12 ปี หรือ ตั้งแต่ ป.1-ป.6 ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ
 
โดยร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานีซึ่งเป็นหน่วยตรวจตา  ( Refraction Unit ) สาธารณสุขอำเภอนายูง  โรงพยาบาลนายูง ครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เทศบาลตำบลนายูง  เทศบาลตำบลโนนทอง  องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านก้อง  องค์การบริหารส่วนตำบลนาแค ตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา

นพ.พิชา พนาวัฒนวงศ์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้มอบให้ รพ.อุดรธานีลงพื้นที่จัดบริการคัดกรองเชิงรุก โดยมีหน่วยวัดสายตานำทีมโดยจักษุแพทย์ ร่วมกับครูและเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลชุมชน ที่ผ่านสอนการคัดกรองเบื้องต้นและตรวจวัดสายตาที่ผิดปกติให้กับเด็กนักเรียน   ลงพื้นที่คัดกรองและตรวจวัดสายตาในพื้นที่อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง  เป้าหมาย 2,159 ราย  ตรวจสายตาเบื้องต้นโดยครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 2,140 ราย  คิดเป็นร้อยละ 98.59   พบผิดปกติ 176 ราย  คิดเป็นร้อยละ 8.15  ส่งตรวจพบจักษุแพทย์ 169 ราย พบผิดปกติ และได้รับแว่นตาจำนวน 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.71

จากการประชุมรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงาน  พบปัญหาและความต้องการ เครื่องตรวจคัดกรองสายตาที่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการปฎิบัติงาน  ยังขาดแคลนไม่รองรับการจัดบริการเคลื่อนที่ และ การประชาสัมพันธ์โครงการให้หน่วยงานที่เกี่บวข้องในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดบริการ   โดยเฉพาะ การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กองทุน กปท.

โครงการเด็กไทยสายตาดีที่ผ่านมาเมื่อคัดกรองแล้วต้องส่งเด็กที่มีสายตาผิดปกติเข้ามาที่โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์เท่านั้น  พบว่ามีเด็กได้รับการคัดกรองน้อยและมีบางส่วนที่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ได้   หลังสปสช.ปรับหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง  สามารถจัดหาทีมจักษุแพทย์ลงพื้นที่ให้บริการได้  จึงทำให้เด็กเข้าถึงบริการได้รับการแก้ไขปัญหาทางสายตาที่รวดเร็วและเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานคัดกรองสายตาเด็กนำร่องในอำเภอนายูง  จังหวัดอุดรธานี จะมีการมอบแว่นตาเด็กในวันที่ 13 มกราคม 2566 ถือเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ด็กที่มีปัญหาสายตาเด็กผิดปกติส่งผลกระทบต่อพัฒนาภาพชีวิตและพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก  โดยเฉพาะพัฒนาการทางสติปัญญาและเรียนรู้ สปสช.เพิ่มบริการแก่เด็กไทยทุกคน ที่มีอายุ 3-12 ปี หรือเด็กอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษา 6 คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี  ซึ่งหน่วยบริการจะให้บริการจะเป็นหน่วยบริการที่สามารถให้บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ  โดยมีการให้บริการ ตรวจคัดกรองในเด็กนักเรียน  ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา  โดยจักษุแพทย์ นักทัศนมาตร  หรือ พยาบาลเวชปฏิบัติทางสายตา  และจะมีการติดตามหลังจากได้รับแว่นตาครบ 6 เดือน

“เราไม่ได้ให้แค่แว่นตา แต่เราให้โลกใบใหม่กับเด็กปฐมวัย ที่จะมองได้ชัดเจนขึ้น และเด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่จะเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย การมองภาพที่ชัดเจนสามารถแทนคำพูดได้นับล้านคำ ซึ่งต้องขอชื่นชมการทำงานของ สปสช.เขต 8 และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะ สปสช.ให้ได้แค่สิทธิประโยชน์ แต่หากพื้นที่ หรือไม่มีผู้ใหญ่ ท้องถิ่น เข้ามาบริหารจัดการให้สิทธิประโยชน์ไปสู่ประชาชน สิทธิต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่มีความหมาย” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองสังเกตหรือสงสัยเด็กมีสายผิดปกติ สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยที่หน่วยบริการ (Walk-in) หากวินิจสายผิดปกติก็รับแว่นตาได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนการส่งต่อเด็กนักเรียนที่มีภาวะสายตาผิดปกติเพื่อเดินทางไปรับการตรวจยืนยัน การรับแว่นตา และการตรวจติดตาม โดยจัดทำโครงการในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ กองทุน กปท.ได้

ด้าน ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในการมอบแว่นตาให้กับเด็กปฐมวัยที่ผิดปกติทางสายตาของ สปสช. คือการลงทุนทางสุขภาพ ที่จะมีผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะเป็นการลงทุนให้กับทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นเด็กปฐมวัย ได้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และส่งผลให้มีการเรียน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชุมชน และจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมากมายในอนาคต

 

 

ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านพร้อมมอบแว่นสายตาให้กับ ด.ญ. ญัชชา ชัยนนท์ ชื่อเล่น น้องเมย์ อายุ 6 ขวบ ป.1 โรงเรียนบ้านเพิ่ม (อรุโณอุปถัมภ์) โดยแม่ได้เล่าว่า ได้สังเกตน้องตอนที่เล่นโทรศัพท์ และดูโทรทัศน์ น้องจ้องไกล้เกินไป จึงได้ถามจากคุณครูว่าน้องนั่งเรียนยังไง หน้าห้องหรือหลังห้อง จากนั้นคุณครูเริ่มสังเกตและได้สอบถามน้องว่าอ่านกระดานชัดและมองเห็นหน้าห้องชัดหรือไม่ จนมีโครงการเข้ามาทำให้โรงเรียนได้คัดกรองสายตาเด็กนักเรียนที่มีความผิดปกติ แม่จึงได้ทราบว่าน้องสายตาผิดปกติ จำเป็นต้องใส่แว่นสายตา ต่อมาน้องก็ได้ใส่แว่นมาโดยตลอด คุณแม่จึงอยากขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนช่วยเหลือ ที่ทำให้น้องสามารถเรียนและอ่านหนังสือได้ชัดมากขึ้น เรามีความสุขมากที่ได้รับโอกาสดีๆแบบนี้