ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จับมือ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ลงนาม MOU เดินหน้าศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM)  เพื่อประโยชน์การนำองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลประเทศไทย 4.0

วันที่ 20 มกราคม 2566 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยมี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

เป็นผู้ลงนามพร้อมด้วยสักขีพยาน ทั้ง 2 องค์กร ประกอบด้วย นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์  รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รองศาสตราจารย์ ดร.เพียรพูล กมลจิตร์ประภา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครา ประโยชน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์ของการลงนาม MOU ในวันนี้ เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ซึ่งประกอบด้วย 4 โมดูล ได้แก่  (1) Digital TTM Knowledge Management เป็นการนำตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทยที่ได้บันทึกไว้ในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก หรือวัสดุอื่นใด เข้าสู่กระบวนการ Digitization และจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ Digital Knowledge based  (2) TTM Expert & Recommendation Systems เป็นกระบวนการ Digitalization ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญ และ  ระบบช่วยแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายถอด ปริวรรต สังคายนา และสืบค้นตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทย

(3)  Herbal Product & Service Big Data Management เป็นกระบวนการ Digital Transformation  โดยพัฒนา Big data ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณค่า (4) TTM Herbal Product & Service Innovation  เป็นกระบวนการ Digital Disruption โดยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการบริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้แก่ประชาชน สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ (Anywhere, Anytime and Anydevice)

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีพันธกิจพัฒนาวิชาการและการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยส่งเสริม และพัฒนาการวิจัย การจัดระบบความรู้ พัฒนาแหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพและเข้าถึงบริการสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้กับประชาชน  ประกอบด้วย แอปพลิเคชันพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย     แอปพลิเคชันสมุนไพรไทย แอปพลิเคชันพจนานุกรมศัพท์แพทย์แผนไทย(ไทย-อังกฤษ) แอปพลิเคชันสมุนไพรเฟิร์ส แอปพลิเคชันการระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ (HerbID) แอปพลิเคชัน Big Data นวดไทย และ แอปพลิเคชัน Dr.Ganja in TTM เป็นต้น

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิต วิจัย พัฒนา ส่งเสริมและ เป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิชาการขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง แก่กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพ และผู้สนใจทั่วไป สำหรับความมุ่งหวังในการลงนาม MOU ในครั้งนี้เพื่อความร่วมมือด้านวิชาการ การเรียนการสอน ในหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสาขาที่เกี่ยวข้อง การวิจัยการพัฒนาบุคลากรและ การสร้างนวัตกรรมดิจิทัลด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนของนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกิดโครงการต่างๆ ที่จะร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย

นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีของประเทศ ที่เกิดจากความร่วมมือครั้งนี้ในการวิจัย และพัฒนาแพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ในการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ พัฒนาการศึกษา ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลประเทศไทย 4.0 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ ต่อไป