ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โควิดหลังนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยแล้ว 2 สัปดาห์ ไม่พบอัตราติดเชื้อน่ากังวล ขออย่าวิตก  ขณะที่กรมวิทย์ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ยังเป็นโอมิครอน BA.2.75  ไม่มี XBB.1.5 ในไทย

 

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 หลังรับนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศไทยแล้ว 2 สัปดาห์ ว่า จากที่มีการมอนิเตอร์เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อัตราการติดเชื้อไม่สูง ในภาพรวมสัปดาห์แรก รายงานผู้ติดเชื้อเป็นนักท่องเที่ยว 3 ราย  ส่วนสัปดาห์ที่ 2 มีรายงาน 5 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากจีน 1 ราย  ซึ่งสถานการณ์น่าจะเป็นไปตามที่วางระบบและคาดการณ์ไว้ ดังนั้น ประเทศไทยยังคงมาตรการเดิมในการเฝ้าระวังต่อไป  ไม่ต้องหวั่นวิตก

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่จุดฉีดศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค เขตสาทร กรุงเทพมหานคร  โดยเปิดให้บริการคนไทยสามารถ walk in ฉีดวัคซีนได้ทุกเข็มโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในระยะสั้น เช่น การท่องเที่ยว สามารถเลือกเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในราคา 1,000 บาท หรือวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ในราคา 800 บาท ค่าบริการฉีดวัคซีน 380 บาท สามารถเข้ารับบริการได้ทุกวันในเวลาราชการ  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-286-2468นั้น เนื่องจากยังเปิดได้ไม่นาน ขณะนี้จึงยังมีนักท่องเที่ยวมารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19ไม่มากนัก ซึ่งกรมจะยังคงเปิดให้บริการต่อไปอย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้  สถานการณ์โควิด-19 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา( 16ม.ค.-21 ม.ค.2566) กรมควบคุมโรค รายงาน มีผู้ป่วยในรพ. 627 ราย  เฉลี่ยวันละ 90 ราย ผู้เสียชีวิต 44 คน เฉลี่ยวันละ 6 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 277 ราย  ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 178 ราย ส่วนการรับวัคซีนโควิด-19 ยอดรวมอยู่ที่ 144.57 ล้านโดส

อนึ่ง มติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบการจัดบริการวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 มอบให้กรมควบคุมโรคประสานหน่วยงาน และโรงพยาบาลภาครัฐ เช่น สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันบำราศนราดูร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ศูนย์พัทยารักษ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อจัดบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับนักท่องเที่ยว

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์สายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศมีการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75 เป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 86% ส่วน XBB พบเล็กน้อย และยังไม่มี XBB.1.5 ในไทย เราก็เฝ้าระวังอยู่ตลอด ส่วนข้อมูลการติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางไปประเทศที่กำหนดให้ตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง นั้น ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ได้รายงานเข้าระบบโคแล็บ (Co-Lab) พบติดเชื้อประมาณ 300-400 คน มีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนพบ 10 กว่าคนหรือ 4% กว่า ยังเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับการจะถอดรหัสพันธุกรรมดูว่าเป็นสายพันธุ์อะไร จึงขอเวลาเก็บข้อมูลอีก 1-2 สัปดาห์ โดยเราให้ห้องแล็บส่งตัวอย่างเชื้อที่มีผลบวกในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตรวจก่อนขึ้นเครื่องทุกราย มาให้เราถอดสายพันธุ์ หากตัวเลขเพิ่มขึ้นก็จะสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ ทั้งนี้ เพื่อดูว่าการติดเชื้อในนักท่องเที่ยวแต่ละชาติเป็นสายพันธุ์อะไรบ้าง อย่างเช่นนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเยอะ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศ แต่เมื่อจะกลับก็ต้องตรวจ RT-PCR ก่อน เราก็จะสามารถดูได้ว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/5 ที่ระบาดในจีน หรือเป็น BA.2.75 ที่ระบาดในไทย โดยเราจะมีคำตอบว่า เป็นการติดเชื้อในประเทศไทย หรือติดเชื้อมาตั้งแต่ต้นทาง

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org