ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีคลิปวิดีโอเรื่อง การใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากของทอด เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ

คลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็น การใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากของทอดนั้น เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพร้อมแจงว่า ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอดทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ซึ่งกระดาษทิชชู (tissue paper) มีทั้งที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (เยื่อกระดาษจากต้นไม้) และจากเยื่อเวียนใหม่ กระดาษทิชชูจึงแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามประโยชน์ใช้สอย เช่น กระดาษเช็ดหน้า กระดาษชำระ กระดาษเช็ดปาก และกระดาษเช็ดมือ

การผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์จะนำเยื่อกระดาษมาตีผสมกับน้ำ ฟอกเยื่อกระดาษให้มีสีขาวแล้วนำมารีดอบเป็นแผ่น ส่วนการผลิตกระดาษทิชชูจากเยื่อเวียนใหม่จะใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟเพื่อตีปั่นวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อกระดาษ ใช้สารคลอรีนไดออกไซด์ในกระบวนการฟอกขาว แล้วนำไปผ่านกระบวนล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดสารเคมี จนได้มาตรฐานก่อนรีดอบเป็นแผ่นต่อไป 

ความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีจากกระดาษทิชชูจะปนเปื้อนสู่อาหาร หากนำมาใช้ซับน้ำมันในอาหารประเภททอดนั้น ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า การใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอดทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากต้องการซับน้ำมันในอาหารควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาสำหรับใช้กับอาหารโดยเฉพาะ ควรเลือกใช้กระดาษทิชชูที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ตามการใช้งาน

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคมะเร็งเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นผิดปกติ สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด 2.ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียม และ 3.ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีน และความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน

ส่วนอาการหรือสัญญาณอันตรายที่สามารถสังเกตได้นั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า หากมีอาการเหล่านี้นานกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีโอกาสเป็นมะเร็ง ประกอบด้วย 1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด 2.กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน 3.มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง 4.มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่าง ๆ 5.เป็นแผลรักษาแล้วไม่ยอมหาย 6.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย 7.มีก้อนตุ่มที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกาย หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ พร้อมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลือกผักผลไม้ให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ปิ้งย่างหรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org