สปสช.จับมือสภาเภสัชกรรม เพิ่มช่องทางและความสะดวกในการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยกลุ่มวัยทำงานที่ร้านยาใกล้บ้าน หนุนร้านยาใกล้บ้านจัดบริการ 6 รายการ ครอบคลุมบริการยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ถุงยางอนามัย การคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ร้านยา 6 รายการ โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ขณะนี้ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รอการประกาศอีกครั้ง) ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สำหรับ 6 รายการบริการที่ร้านยาประกอบด้วย 1. บริการยาเม็ดคุมกำเนิดแก่หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ โดยให้บริการครั้งละไม่เกิน 3 แผง รวมไม่เกิน 13 แผง/คน/ปี ตลอดจนให้คำปรึกษาในการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว การใช้ยาและผลข้างเคียง
2. บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและบริการให้คำปรึกษา แก่หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ ให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่เกิน 2 แผง/คน/ปี ตลอดจนให้คำปรึกษาในการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว การใช้ยาและผลข้างเคียง
3. บริการจ่ายถุงยางอนามัย แก่ประชาชนไทยวัยเจริญพันธุ์ จำนวน 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ รวมไม่เกิน 52 ครั้ง/ปี และให้คำปรึกษาในการคุมกำเนิดการวางแผนครอบครัว
4. บริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง สำหรับหญิงไทย ที่มีอาการแพ้ท้องสงสัยตั้งครรภ์ หรือประจำเดือนขาด ไม่มาตามกำหนด
5. บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สำหรับหญิงไทยอายุ 13-45 ปี จำนวน 52 เม็ด/ปี
และ 6. บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
6.1 ประชาชนไทยอายุ 15-34 ปี ครอบคลุมรายการประเมินดัชนีมวลกาย (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง) และรอบเอว ตรวจวัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้เสพสารเสพติด ประเมินภาวะเครียด-ซึมเศร้า และให้คำปรึกษาและแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล หากเป็นกลุ่มเสี่ยงให้ประสานส่งต่อหรือนัดพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสั่งการรักษา หรือแนะนำรับบริการตามสิทธิ
6.2 ประชาชนไทย อายุ 35 - 59 ปี จัดบริการครอบคลุมเหมือนกลุ่มอายุ 15-34 ปี และเพิ่มรายการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและ หรือเจาะเลือดปลายนิ้วตรวจระดับน้ำตาล (FCG) และการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถรับบริการเหล่านี้ ที่ร้านยา ซึ่งเข้าร่วมโครงการจะติดสติ๊กเกอร์คำว่า “ร้านยาของฉันให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” ที่หน้าร้าน ละขอให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ เพราะร้านยาเหล่านี้ได้มาตรฐาน GPP (Good pharmacy practice) มีเภสัชกรที่ผ่านการอบรมโดยสภาเภสัชกรรมประจำตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ และถือเป็นหน่วยรับส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรมของ สปสช. อีกด้วย
ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า อยากเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมารับบริการ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี การให้บริการที่ร้านยาซึ่งตั้งอยู่ในชุมชน มีความสะดวกในการเดินทาง เข้าถึงบริการได้ง่าย และประชาชนยังมีโอกาสสอบถามพูดคุยกับเภสัชกรรมได้นานกว่าการไปตรวจที่โรงพยาบาล และถ้าพบความเสี่ยงจะได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือส่งต่อให้แพทย์ดูแลได้เร็วขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดโรคหรือตรวจพบเมื่ออาการรุนแรงแล้ว
“ขั้นตอนการเข้ารับบริการก็ง่ายๆ ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน ถือบัตรประชาชนมารับบริการได้เลย แจ้งความประสงค์กับเภสัชกรว่าต้องการมารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงหรือบริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ จากนั้นร้านยาจะตรวจสอบสิทธิ หากเป็นสิทธิบัตรทองก็เข้าสู่กระบวนการให้บริการต่อไป”ภก.ปรีชา กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ มีเภสัชกรที่ผ่านการอบรมมากกว่า 3,000 คน และยังมีอีกส่วนที่รอการอนุมัติจาก สปสช. คาดว่าในอนาคตจะมีร้านยาให้บริการได้ทั่วถึงทั่วประเทศ โดยเร็วๆนี้ สภาเภสัชกรรมจะมีแอปพลิเคชัน “ร้านยาของฉัน” ให้ดาวน์โหลด เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ค้นหาตำแหน่งร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านได้โดยง่าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 272 views