ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเดินหน้าเตรียมรับบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด หากมีการประกาศปรับกฎหมายถือครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด ล่าสุดมีรพศ.รพท.ตั้งวอร์ดฯแล้ว 75.59%  พร้อมทำงานเชิงรุกรักษาในชุมชน ส่วนบุคลากรยังเป็นกลุ่มเดิม แต่เพิ่มทักษะความรู้ ขณะที่สปสช. กำลังพิจารณากระบวนการรักษาในชุมชน   

 

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยยาเสพติดที่จะเพิ่มขึ้นกรณีการครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด ว่า ที่ผ่านมาท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการให้ รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ทุกแห่งได้เปิดวอร์ดจิตเวชและยาเสพติด โดย กรมสุขภาพจิตได้รับมอบหมายจากท่านปลัดสธ.ให้ติดตามเรื่องนี้ ล่าสุดพบว่า โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) มีการดำเนินการตรงนี้แล้ว 96 แห่ง คิดเป็น 75.59% จาก 127 แห่ง  ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาทำให้คนไข้ได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น  นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลชุมชนเช่นกัน โดยท่านรองนายกฯ ไม่ต้องการให้ข้ามชุมชน แต่ต้องการให้ทุกชนชนมีการบริการตรงนี้ และสามารถเชื่อมโยงระบบส่งต่อไปยังรพ.จังหวัดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าการขยายการดูแลผู้ป่าวยจิตเวชเรื่องยาเสพติด จะมีบุคลากรเพียงพอในการให้บริการหรือไม่ หรือต้องใช้บุคลากรชุดเดิมก่อน พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องเป็นบุคลากรเดิมในการปฏิบัติงาน แต่จะมีการอบรมความรู้ เพิ่มเติมทักษะ ซึ่งกลุ่มพี่น้องพยาบาล หรือนางฟ้าชุดขาวจะเข้ามาช่วยตรงนี้มาก ที่ผ่านมาเรามีการอบรมพยาบาลจิตเวชและยาเสพติด แต่มีจำนวนน้อย เพราะว่า เรื่องของความยากลำบาก และความก้าวหน้ามีจำกัด แต่ด้วยนโยบายเร่งด่วน จะมีการเปิดอบรมกว้างขวางมากขึ้น และรูปแบบการอบรมไม่ต้องลาไปนานๆ สามารถเรียนเป็นช่วงๆ ซึ่งจะมีการประสานกับสภาการพยาบาลด้วย

“ส่วนการผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติมนั้น ทุกวันนี้ผลิตได้ประมาณปีละ 40-50 คน ซึ่งที่ผ่านมากำลังผลิตมีน้อย แต่ท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีฯ ตั้งเป้าหมายว่า 800 คนต้องเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเรามีแผนผลิตทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด แม้แต่เภสัชกรจิตเวช อยู่ในแผนการผลิต ส่วนงบฯ ที่อนุมัติจากครม. 686 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นการขยายกำลังผลิตบุคลากร และอีกส่วนสนับสนุนให้มีการทำงานเชิงรุกสู่ชุมชนด้วย” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังพิจารณาให้กระบวนการรักษาในชุมชนนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิการรักษาด้วย ซึ่งจะรวมถึงกระบวนการรักษาที่บ้าน ก็จะคล้ายกับตอนที่โควิด-19 ระบาด มีการรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) สปสช.ก็ตามไปดูแล ทั้งเรื่องยาและเวลาที่คนตามเยี่ยม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทุกวันนี้งบประมาณจะเป็นงบจากส่วนกลาง ไม่ใช่ของสปสช.

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระบวนการรักษาในชุมชนจะต้องมีการเพิ่มค่าตอบแทนหรือการปฏิบัติงานเพิ่มเติมให้บุคลากรส่วนนี้ด้วยหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ในอนาคตอาจมีการพิจารณากรณี รพ.ที่ออกไปดูแลช่วยเหลือคนไข้ในชุมชน อาจมีการเบิกเงินส่วนนี้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)   

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง