ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลังภาคี มุ่งส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เน้นสร้างคุณค่าในตัวเอง เป็นเกราะป้องกันปัญหาท้องวัยรุ่น-ความรุนแรง-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
            
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ส่วนใหญ่มักจับจ้องไปที่คู่รักหนุ่มสาว ซึ่งมักเป็นความรักที่เต็มไปด้วยการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ในสายตาผู้ใหญ่จึงมีความเป็นห่วง จนบางครั้งทำให้เกิดความไม่เข้าใจ กลายเป็นกำแพงที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้ โดยเฉพาะ “เรื่องเพศ” ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ เปิดใจคุยกันแบบตรงไปตรงมา สสส. ขับเคลื่อนประเด็นสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ตั้งแต่ปี 2548 และรณรงค์เรื่องสุขภาวะทางเพศอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2553 กระตุ้นให้พ่อแม่คุยเรื่องเพศกับลูกอย่างเปิดอก ลดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังสูงในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ในยุคที่เต็มไปด้วยความรู้ อุปกรณ์ป้องกันโรค ยังพบว่า โรคซิฟิลิส มีอัตราป่วย 27.9 ต่อแสนประชากร เมื่อปี 2561 เพิ่มเป็น 50.5 ต่อแสนประชากร ในปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่ควรพูดคุยกันอย่างจริงจัง และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาทั้งทางกาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ท้องในวัยรุ่น ทำแท้งไม่ปลอดภัย และความรุนแรงทางจิตใจ เช่น การทำร้ายตัวเอง เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นพิษ 

“ทัศนคติเป็นเรื่องเปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้ สสส. สานพลังภาคี รณรงค์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” โดยจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ Influencer สายครอบครัว ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวแทนคนทำงานกับพ่อแม่ ในวันที่ 28 ก.พ. 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว การรณรงค์เน้นไปที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารเชิงบวก มีเทคนิค วิธี หรือเครื่องมือต่างๆ ที่จะเป็นตัวช่วยในการพูดคุยกับลูก โดยเน้นย้ำว่า  “คุยเรื่องเพศ เริ่มที่รับฟัง ไม่ตัดสิน” โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ ที่ปัจจุบันเด็กเปราะบางอย่างมาก การให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง จะเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆ กล้าปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายและสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างถูกต้องทั้งในเดือนแห่งความรัก และในช่วงเวลาอื่นๆ” นายชาติวุฒ กล่าว

นายดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้รณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และกล้าที่จะสื่อสาร กล้าที่จะพกถุงยางอนามัย และกล้าที่จะใช้ถุงยางอนามัยอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสำคัญคือ มุมมองและทัศนคติที่ยังเป็นไปในแง่ลบ โดยพบว่าผู้ใหญ่ยังมีมุมมองต่อเด็กผู้หญิงที่พกถุงยางอนามัยว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี ขณะที่กลุ่มเด็กผู้ชายมักจะมีการพูดคุยกันว่าการสวมถุงยางอนามัยจะทำให้ไม่สามารถรับความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ต้องปรับมุมมองใหม่ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่มักจะมองว่าการเข้าไปส่งเสริมความรู้ ความกล้าในการซื้อ การพกถุงยางอนามัย และการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ เป็นการเตรียมตัวให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น อารมณ์ความรู้สึกทางเพศจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และการเรียนรู้ที่จะกล้าพก กล้าใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ เราต้องกล้าที่จะสื่อสาร ให้เป็นเรื่องปกติเหมือนกับการที่เราสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 

“ตลอดเดือน ก.พ. 2566 มูลนิธิฯ จัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยผ่านระบบออนไลน์ ในแคมเปญ "Love Care กล้ารัก กล้ารับผิดชอบ" เป็น กิจกรรม Challenge ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เน้นกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใช้ Tiktok อัดคลิปวีดีโอการขอรับถุงยางอนามัยฟรี หรือไปซื้อถุงยางอนามัย หรือวิดีโอการส่งถุงยางอนามัยให้กับเพื่อนๆ นำมาเผยแพร่ผ่าน บัญชี tiktok ของตัวเองพร้อมติดแฮชแท็กชื่อโครงการ หากคลิปวีดีโอใดมียอดการกดไลค์ถึง 100 ไลค์ขึ้นไปก็จะได้รับของรางวัลเป็นที่ระลึกจากโครงการฯ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมุมมอง หรือทัศนคติต่อถุงยางอนามัยในทางที่ดีขึ้น” นายดิเรก กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง