ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ลั่น รมว.สธ. และกระทรวงสาธารณสุข ยืนหยัดไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เอาผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพประชาชน ยอมรับมีเพื่อน ส.ส. บางท่านพยายามแก้กฎหมาย แต่เชื่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนไม่ควรให้ถูกกฎหมายได้ เหตุอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมเดินหน้าร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข ปิดช่องโหว่ “บุหรี่ไฟฟ้า”  เชื่อประชุมครม.เหลืออีกราว 2 สัปดาห์น่าจะทัน หากไม่ทันรักษาการก็ยังทำได้

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี  แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซ.ศูนย์วิจัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการมหกรรมฟ้าใส ครั้งที่ 13  ว่า ปัจจุบันนี้เรามีบุหรี่มวนที่สามารถจำหน่ายได้ และยังสูบได้ แต่ก็มีสิ่งที่วิตกกังวลคือ การมาถึงของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังมีกฎหมายห้าม ทั้งนำเข้าและจำหน่าย แต่ก็ยังมีการสูบอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ ทั้งผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ทำให้การเข้าถึงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีหลักความจริง คือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นมะเร็ง ไม่มีสารอันตราย ทำให้เจ็บป่วย

นายอนุทิน กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่สำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 80,000 คน และในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี  แน่นอนว่าถ้าไม่รีบแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของถูกกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่า จะไม่ให้การสนับสนุนต่อการกระทำใด ที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายแน่นอน เพราะนิโคตินไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ไม่ดีต่อสุขภาพ นำมาสู่โรคมากมาย ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน 

 “จากปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่เกิดขึ้น แต่ขณะนี้กลับมีความพยายามให้บุหรี่ฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งครม. ก็มีคนที่พยายามผลักดันอยู่ ผมว่า ไม่ผ่านหรอก เพราะกระทรวงสาธารณสุข  ไม่ยอม ไม่ใช่รมว.ไม่ยอม แต่กระทรวงฯทั้งหมด และคิดว่า รมว.สธ.คนไหนที่เข้ามา ไม่มีใครยอมหรอก หากยอมก็ต้องไปคิดแล้ว ซึ่งภาระหน้าที่ของสธ. ไม่สามารถให้มีข้อยกเว้นได้ แต่ถามว่า ทำไมบุหรี่มวนถึงขายได้ ผมก็ต้องร้องเพลงว่า จงรัก อย่าถามว่าฉันเป็นใครในอดีต เพราะผมไม่ใช่คนอนุญาตขายบุหรี่มวน หากเป็นตอนนี้อยู่ในช่วงนั้น ผมคิดว่า อาจารย์ผู้ใหญ่ไม่มีใครยอม” นายอนุทิน กล่าว

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้พบศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์  นายกแพทยสภา และศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในการหารือขอให้สนับสนุนยาช่วยเลิกบุหรี่ ให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งก็มีการสนับสนุนไปแล้วนั้น แต่ขณะนี้มีเรื่องน่าห่วงเรื่อง บุหรี่ไฟฟ้า โดยข้อมูลวิชาการยืนยันว่า คำชวนเชื่อที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ยืนยันข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตนไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ก็ทราบดี ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายพอกัน ไม่ว่านิโคตินจริงหรือไม่ เมื่อมีควันออกมา แสดงว่ามีการเผาผลาญ ย่อมมีอันตราย

“ในทางกฎหมายปัจจุบันยังห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า มีช่องทางแอบเข้ามา เพราะพกพาเข้ามาได้ง่าย เนื่องจากขนาดเล็ก แต่อย่างน้อยตอนนี้ร้านค้าสะดวกซื้อจำหน่ายไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายยังบังคับได้พอสมควร จริงๆ ผมเสียเพื่อนมาเยอะ บางคนรู้ว่าสนิทกัน ผู้ประกอบการบุหรี่ขอให้ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมานัดคุย ซึ่งผลก็บอกว่า ผมพบเขา หรือแม้แต่ต้อนรับ ถ่ายรูปด้วยไม่ได้จริงๆ ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการสธ. จะมาพบกันแบบนี้ไม่ได้ ความพยายามที่จะมาในรูปแบบสมาคมฯ หรือคนที่เคารพมากๆ ไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งผมยังรักษาความบริสุทธิ์ตรงนี้ได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  ไม่ใช่แค่เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า  แต่กัญชาก็ไม่ให้สูบเช่นกัน แม้จะเป็นกฎหมายตนก็ตาม จริงๆ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่ว่าตนไม่สูบ ก็ไม่ให้ใครสูบ ตนได้ติดตามข้อมูลวิชาการ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตรายอย่างไร ซึ่งมีแน่นอน และรับรองว่า ไม่มีทางสนับสนุน ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการสธ.จะให้ออกข้อความว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเท่าบุหรี่มวน และไม่น่ามีปัญหาการเปิดนำเข้าถูกกฎหมาย แต่อธิบดีกรมควบคุมโรค ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านไม่ยอมแน่นอน

“ขอให้ทุกท่าน และคนหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายในการนำนโยบายนี้ออกมาให้เป็นผลนั้น หรือเพื่อนคณะรัฐมนตรีหลายท่าน หรือสมาชิกผู้แทนราษฎร อย่าได้พยายามเลย เป็นไปไม่ได้ และกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนหยัดไม่ให้สิ่งที่จะเป็นอันตรายเข้ามาในประเทศไทย และหากกฎหมายให้เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ หากผมมีอำนาจผมจะยกมือเห็นด้วยทั้งสองมือ ยกเท้าได้จะยกด้วย หรือมีอำนาจจะเซ็นทันที ตอนนี้อะไรที่ผมทำได้ ผมทำไปแล้วที่ปิดช่องโหว่เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ผมเสียเพื่อนไปเยอะ เพราะไม่ยอมพบกับผู้ประกอบการบุหรี่ ผมมีจรรยาบรรณในความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  ตนพยายามทำตามอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อปิดช่องโหว่ปิดความหวัง และพยายามช่วยเร่งร่างกฎกระทรวงสาธารณสุขอีก 1 ฉบับ ครอบคลุมห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องผ่าน ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกา  ขณะนี้อยู่ที่สำนักเลขาธิการครม. เหลือประชุมครม.อีกประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนยุบสภา เชื่อว่าน่าจะพิจารณาทัน ซึ่งเป็นเพียงประกาศกระทรวง โดยครม.แค่รับทราบ หากรับทราบแล้ว ตนก็ลงนามได้ แม้จะเป็นรมว.รักษาการก็ทำได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลหน้า อย่างงบประมาณ หรือโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่กฎหมายไม่ได้ปิดช่อง ยกเว้นเร่งด่วนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ขอกกต.ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องรอครม.ชุดใหม่ ซึ่งอาจต้องรอถึงสิงหาคม

 “ยังยืนยันเจตนารมณ์ และขอให้เชื่อมั่นกระทรวงสาธารณสุข จะไม่มีวันยอมหรือยินดีให้มีการใช้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีความอันตรายแม้แต่นิดเดียว ขอให้มั่นใจได้” นายอนุทิน กล่าว

 

ทั้งนี้ ศ. เกียรติคุณ พญ.สมศรี  เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีสารนิโคตินเท่ากับบุหรี่ซองถึง 20 มวน และยังส่งผลข้างเคียงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ นอกจากนี้  สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน   เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่ แต่เป็นหนทางนำไปสู่การสูบบุหรี่มวน และยาเสพติดอื่น ๆ 

ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดนับเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่สำคัญในอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยเป็นสาเหตุของการเกิดโรค NCDsมากกว่า 25 โรค ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 70,000 คน และภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคเหล่านี้สูงถึงปีละเกือบ 1 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดก่อให้เกิดโรคNCDs สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้  ขอย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบ “ติด” ได้  ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นวิกฤติทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยอยู่ช่วงอายุ 15-24 ปี มากถึง 24,050 คน เป็นภัยร้ายที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาทแล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า เด็กอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่ง หรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า และเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เมื่อเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดต้องสูบเป็นประจำ ภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีแนวโน้มที่จะเริ่มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 72% มีการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุรา กัญชา บุหรี่ และอาจลุกลามไปถึงยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ด้วย

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดจุดยืน “ 5 พรรคการเมือง” นโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ไม่สนับสนุนถูกกฎหมาย

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org