ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุจากอะไร อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาการแบบไหนในร่างกายที่ส่งสัญญาณต้องรีบไปพบแพทย์

จากโพสต์ในสื่อออนไลน์ 9 สัญญาณเตือน โรคไทรอยด์เป็นพิษ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า อาการไทรอยด์เป็นพิษ จะต้องใช้การวินิจฉัยโดยละเอียด ต้องรับการตรวจเลือดไทรอยด์ จึงจะยืนยันได้ว่าเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ อาการใดอาการหนึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็น โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือไม่ เมื่อตรวจแล้วพบอาการไทรอยด์เป็นพิษ จะได้เข้ารับการรักษา ได้รับการติดตามอาการ และผลการตรวจเลือด ซึ่งการรักษาโรคดังกล่าวมีอยู่หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงในบางราย จึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

"โรคไทรอยด์เป็นพิษ"

โรคไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร

ต่อมไทรอยด์เป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สอดคล้องกับการทำงานหลายอย่างของร่างกาย สำหรับ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์นั้นหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ออกมามากเกินไปจนผิดปกติ เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินความต้องการ จะมีสภาวะเป็นพิษ ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ ไม่สบาย ส่งผลต่อร่างกายให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า โรคไทรอยด์เป็นพิษ พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 5-10 เท่า หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง อาจไม่แสดงอาการใดเลย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ 

อาการแบบไหนเสี่ยงเป็น ไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์เป็นพิษ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ โดยข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อาการที่ต้องสงสัยว่าเป็น โรคไทรอยด์ ได้แก่

  • เหนื่อยง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • ใจสั่น มือสั่น
  • ผมร่วง
  • ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายท้องเสีย 
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะต้นแขนและต้นขา

โรคไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ อาการคอพอกจากต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกได้เอง บางกรณีต่อมไทรอยด์จะโตขึ้นมากจนเห็นเป็นก้อนขนาดใหญ่ที่คอ และอาจพบอาการตาโปนร่วมด้วย จะเรียกว่า โรคคอพอกตาโปน ซึ่งพบได้บ่อยร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ สำหรับภาวะแทรกซ้อน หากเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษเรื้อรังจะเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้ สาเหตุจากร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษในบางรายอาจไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจน ต้องหมั่นสังเกต ตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ ส่วนภาวะที่ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องเสีย ตัวและตาจะเหลือง สับสนมึนงงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ อาจช็อคได้ ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะท้าย ๆ อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย สาเหตุมาจากหัวใจเต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะ จึงต้องคอยสังเกตอาการให้ดี เพราะ โรคไทรอยด์เป็นพิษ เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง รักษาไม่ทัน อาจส่งผลถึงชีวิตได้

"โรคไทรอยด์เป็นพิษ"

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • กาแฟ ชา แอลกอฮอล์
  • พริกชนิดเผ็ด เพราะจะเพิ่มเมตาบอลิซึม ทำให้ใจสั่น หายใจติดขัดได้
  • หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง สาหร่าย ผักกาด เพราะมีสารขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย
  • พืชกลุ่ม Cruciferae เช่น กะหล่ำปลีดิบ ฮอสแรดิช และเมล็ดพรรณผักกาด

สำหรับผลกระทบจากโรคไทรอยด์ สามารถทำให้เกิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงภาวะหัวใจวาย และเสี่ยงภาวะสมองขาดเลือด จึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง 

โรคฮาชิโมโต แตกต่างจาก โรคไทรอยด์เป็นพิษ

อีกหนึ่งโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ที่ต้องระวัง คือ โรคฮาชิโมโต ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน โรคนี้แตกต่างจาก โรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยโรคฮาชิโมโตเป็นสาเหตุของภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ จากภูมิคุ้มกันในร่างกายทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนทำงานลดลง ปัจจัยทำให้เกิดโรคฮาชิโมโต คล้ายกับไทรอยด์เป็นพิษ เกิดได้จากกรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไทรอยด์ เป็นได้ทั้งไทรอยด์อักเสบเรื้อรังหรือไทรอยด์เป็นพิษ เพราะเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของไทรอยด์ที่ผิดปกติ ทำให้ไทรอยด์มากหรือน้อยเกินไป เพศหญิงเป็นได้มากกว่า และพบมากเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โรคฮาชิโมโต จะสังเกตได้เมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นเป็นคอพอก และพบอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 
  • หน้าบวม 
  • รู้สึกหนาวง่าย 
  • ผิวแห้ง 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ปวดเมื่อยตามตัว 
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

"ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง แตกต่างจาก โรคไทรอยด์เป็นพิษ"

การดูแลสุขภาพของทั้ง 2 โรค ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ดีครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพจิตใจไม่ให้เครียด แบ่งเวลาทำงานใช้ชีวิตอย่างสมดุล นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นักโภชนาการแนะอาหารสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง