ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และการหามาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ยั่งยืน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมพ.ศ.2565 โดยระบุว่า โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตยังมีอัตราเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี 2563 มีอยู่ 355,537 คน แต่ในปี 2564 เพิ่มเป็น 358,267 คน และอัตราการฆ่าตัวตายในปี 2564 อยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2547 - 2563 ที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5 - 6 รายต่อประชากรแสนคน

ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15 - 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น โดยมีปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน รวมทั้งภาวะป่วยกายหรือใจเรื้อรัง การใช้สุราและสารเสพติด และภาวะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลผู้รับบริการจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2564 มีจำนวน 120,510 สาย ซึ่งสาเหตุ 3 อันดับแรกในการโทรปรึกษา คือเครียดวิตกกังวลร้อยละ 52 ผู้ป่วยจิตเวชเดิมร้อยละ 38 และผู้มีความคิดฆ่าตัวตายร้อยละ 21 ส่วนผู้ตอบแบบ ขณะที่การประเมินสุขภาพจิตผ่านช่องทาง MENTAL HEALTH CHECK-IN ของกรมสุขภาพจิต มีผู้ตอบแบบประเมิน 1.4 ล้านคน โดยพบภาวะเสี่ยงซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมาเป็นเครียดสูง และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

ในภาพรวมปี 2565 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 134.9 โดยเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบสูงที่สุด การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นมาก โดยไตรมาสสี่ ปี 2565 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 3 ล่าดับแรก ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง พบว่า

โรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ที่ทำให้ประชาชนลดความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย และมีการจัดกิจกรรมแบบรวมกลุ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน

          การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 5 โรคสำคัญมีแนวโน้มลดลงในทุกโรค โดยข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ส่านักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ได้แก่โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด โรคหัวใจ/หัวใจขาดเลือด/หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดในสมอง ลดลงในทุกโรค ขณะที่อัตราการตาย พบว่า โรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 โดยมีอัตราตาย 128.50 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าโรค NCDs อื่น ๆ มากกว่า 2 เท่า

          ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ ประกอบด้วย 1) การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและแอลกอฮอล์ 2) การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 3) การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และ 4) มลพิษทางอากาศ ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 17.4 ขณะที่ร้อยละ 28.0 มีการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเป็นผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอถึง 10.6 ล้านคนขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยยังมีความเสี่ยง กล่าวคือ คนไทยจำนวนมากยังบริโภคอาหารไขมันสูงและอาหารแปรรูป นอกจากนี้ ร้อยละ 42.5 ของผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพออีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม - เมษายนของทุกปี ทั้งนี้ จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศประมาณ 10.3 ล้านราย โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุดรองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

อย่างไรก็ตามประเด็นประเด็นด้านสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือ 1. การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและจีน โดยประชาชนต้องรักษาระดับการป้องกันโรคส่วนบุคคล รวมถึงเข้ารับวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

2. การส่งเสริมพฤติกรรมดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประชาชนมีความเร่งรีบและเคร่งเครียดในการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้นด้วย เช่น การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพ ดังนี้ 1) ความรับผิดชอบต่อสุขภาพ ให้ความสนใจต่อภาวะสุขภาพของตนเองและควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี ทุก ๆ ปี  2) โภชนาการ การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม ถูกสุขลักษณะ ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ (3) การทำกิจกรรมทางกาย มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (4) การจัดการความเครียด เช่น การแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม การพักผ่อนนอนหลับ การท่ากิจกรรมเพื่อคลายความเครียด และ 5) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีการให้และการรับให้เกียรติซึ่งกันและกันรวมทั้งมีการปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ไขปัญหา

3. การหามาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จ่าเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนโดยจะต้องบูรณาการการท่างานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีแนวทางการแก้ไข ดังนี้ 1) ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ 2) ควบคุมปริมาณสารมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม 3) ลดการเผาหญ้าหรือขยะมูลฝอยในที่โล่ง 4) รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศ และ 5) ส่งเสริมให้ใช้รถจากระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ การปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

รายงานภาวะสังคมไทยยังระบุด้วยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการศึกษาอีกด้วยประเด็นที่ยังต้องให้ความสำคัญคือ 1) การแก้ไขปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 2) การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปในช่วง COVID-19 ซึ่งข้อมูลการสำรวจจากกรมอนามัย พบว่า ร้อยละ 25 ของเด็กไทยยังมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย และการสำรวจความพร้อมในการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของเด็กในยุค COVID–19 (2563 – 2565) พบว่าเด็กปฐมวัยมีความสามารถในการจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ลดลง โดยเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นเป็นกลุ่มที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูงสุด และมีพัฒนาการเทียบเท่าเด็กในระดับชั้นอนุบาล

ด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ก็ในภาพรวมปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ตามภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งการกระตุ้นตลาดที่มีการสร้างกลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้นในหลายช่องทาง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งต้องมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การเร่งปราบปรามบุหรี่หนีภาษีบนโลกออนไลน์ ซึ่งต้องควบคุมและตรวจสอบปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่มีการลักลอบนำบุหรี่หนีภาษีเข้ามาในประเทศ

ขณะที่การร้องเรียนของผู้บริโภคในภาพรวมปี 2565 มีแนวโน้มลดลงส่วนใหญ่ยังคงเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับข้อความสั้น (SMS) สำหรับประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ 1) การหลอกลวงให้ประชาชนเปิดบัญชีม้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ... . เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกหลอกลวงให้โอนเงินและลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีม้า 2) ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยใช้แอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน 3) ปัญหาการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถแท็กซี่ 4) ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย และ 5) ปัญหาและความเสี่ยงการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์กับการคุ้มครองผู้บริโภค