ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้บริโภค และ สปสช. ร่วมแถลงข่าว “จ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติรักษาผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท” ย้ำ! รพ.เก็บค่า "ยานอกบัญชี" ไม่ได้ ขอความร่วมมือสถานพยาบาลทั่วประเทศ ประสาน สปสช. เพื่อเบิกค่าใช้จ่าย อย่าเรียกเก็บจากผู้ป่วย

วันที่ 4 เม.ย. 66 สภาผู้บริโภค และ สปสช. ร่วมแถลงข่าวในงานเสวนา “จ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติรักษาผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท” สิทธิบัตรทองใช้ยานอกได้หรือไม่? รพ.สามารถเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยได้หรือไม่ ?  ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเรียกเก็บเงินเป็นปัญหาใหญ่ของระบบหลักประกันฯ จำนวนเคสที่ร้องเรียนถูกเรียกเก็บเงินตั้งแต่ปี 60 ประมาณ 127 ราย ปัจจุบันลดลงเหลือ 32 ราย หน่วยบริการก็เข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่ายาในบัญชียาหลักฯ มีราคาถูก เอามาใช้ในสิทธิบัตรทอง แต่ยานอกบัญชีสิทธิราชการเบิกจ่ายได้ เป็นความเชื่อไม่ถูกต้องทั้งหมด

สิทธิบัตรทองใช้ยานอกได้หรือไม่ ?

ทั้งนี้ บัญชียาหลักฯ เป็นบัญชียาจำเป็นที่ประเทศควรมีไว้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าให้มี เพราะหากไม่มีคนที่จะรับผลประโยชน์ขายยา คือ บริษัทยา อาจมีการส่งเสริมการขาย แพทย์รู้สึกยาดี เอามาสร้างความรู้สึกดีกับประชาชน ทั้งที่อาจไม่ได้มีความคุ้มค่าและไม่ได้ดีกว่าที่มีในยาบัญชีฯ ดังนั้น บัญชียาหลักฯ เป็นยาจำเป็นชี้แนะการใช้ยาสมเหตุสมผล ขอให้มั่นใจในยาบัญชียาหลัก เพราะกระบวนการมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 สาขามาร่วมกันทำพิจารณารายการยา เหมาะสมกับมาตรฐานการรักษา หากประสิทธิภาพไม่ดี แพงเกินเหตุได้ผลนิดเดียวก็ไม่เอาเข้า

"แพทย์อาจบอกยาในบัญชีไม่มี สั่งยานอกฯ ก็เป้นสิทธิของคนไข้ทุกสิทธิว่าจะไม่เสียเงิน เพราะเป็นไปตามวินิจฉัยของแพทย์ ที่อาจจำเป็นสำหรับบางกลุ่มคน ซึ่งมีบางคนร้องเรียนมีการใช้ยารักษามะเร็งที่เป็นยานอกบัญชี อยู่ระหว่างพิจารณา อย่างนี้ก็ไม่มีสิทธิไปเรียกเก็บคนไข้ หลังคณะกรรมการสอบสวนฯ ไปดู ยานี้เป็นยาที่คนไข้ไม่ได้เรียกขอ แต่แพทย์มองว่าคนไข้มีภาวะไตแบบนี้ ควรใช้ยาตัวนี้ เพราะยาในบัญชีอาจไม่เหมาะสม แบบนี้เรียกเก็บไม่ได้" ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าว

ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวว่า การใช้ยานอกบัญชีฯ และถูกเรียกเก็บเงิน สปสช.ร่วม สธ.ทำมาโดยตลอด ทำความเข้าใจหน่วยบริการ ว่าไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ได้ โดยมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจตั้งแต่ปี 2544 ว่า หากคนไข้ไม่เรียกร้อง แต่แพทย์สั่งให้เองเพราะเห็นว่าจำเป็น จะไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ยกเว้นคนไข้บอกว่าอยากได้ยานั้นยานี้เป็นภาระที่คนไข้ต้องรับเอง ถือเป็นเส้นแบ่ง ถ้าเราไม่เรียกร้องเขาไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ส่วนที่ รพ.ให้เซ็นชื่อว่ายินดีไม่ใช้สิทธิบัตรทอง ปัจจุบันบอกเลยว่าหนังสือที่ รพ.ออกแบบมา เขียนถ้อยความต่างๆ ให้เซ็นชื่อถือว่าโมฆะ ไม่มีสิทธิทางกฎหมาย หากคนไข้ต้องการสละสิทธิการใช้สิทธิบัตรทอง คนไข้ต้องเขียนเองทั้งฉบับ ลงลายมือไม่ประสงค์ใช้สิทธิอะไร ไม่ใช้สิทธิเรื่องยา เรื่องต่างๆ ลงลายมือชื่อตนเองถึงมีผลทางกฎหมาย เราชี้แจงหน่วยบริการทุกแห่ง แต่ประชาชนอาจไม่ทราบ หาก รพ.บอกให้เซ็นแล้วเราเซ็นไป เรื่องเข้ามาในคณะกรรมการสอบสวนก็ถือว่าโมฆะ เพราะเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รพ.สามารถเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยได้หรือไม่ ?

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสิทธิบัตรทองยังเกิดต่อเนื่อง หลักๆ มาจากเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการฉุกเฉินที่บอกว่าไม่ฉุกเฉิน และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่บอกว่ามีคุณภาพดีกว่า เมื่อมีการร้องเรียน กรรมการควบคุมคุณภาพการให้บริการบัตรทองก็วินิจฉัยให้ รพ.จ่ายเงินคืนทั้งหมด จึงไม่อยากเห็น รพ.ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 โดยไม่จำเป็น คนไข้ก็เข้าถึงบริการล่าช้า ไม่มั่นใจในระบบหลักประกันฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่ตั้งสภาฯ ถึง 30 มี.ค. 2566 มีเรื่องร้องเรียน 1,979 ในเรื่องด้านบริการสุขภาพ เป็นบัตรทอง 34.82% ประกันสุขภาพเอกชน 25.82% เจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน 11.72% ประกันสังคม 6.11% และมีเรื่องค่ารักษาแพง 22% ส่วนข้อมูล สปสช.ปี 2565 มีการร้องเรียนเรื่องถูกเรียกเก็บเงินเข้ารับบริการบัตรทอง 577 เรื่อง เป็นเงิน 9.11 ล้านบาท เฉพาะค่ายานอกบัญชียาหลักฯ 32 เรื่อง เป็นเงิน 1.72 ล้านบาท แม้ดูไม่ได้เยอะจากระบบบัตรทองทั้งหมด แต่คนที่ร้องเรียนมีทั้งกลุ่มที่การเรียกเก็บเงินเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ ไม่มั่นใจว่ายาที่ได้รับดีหรือไม่ คุณภาพที่ได้รับ และบางคนไม่ใช่เรื่องเงินแต่ทำไม รพ.เรียกเก็บ ทั้งที่ไม่ควรเรียกเก็บ

น.ส.สารีกล่าวว่า เรายืนยันเสมอว่า บัตรทองไม่ควรเรียกเก็บเงินเลย ยกเว้นเสริมสวย ไม่ว่าเข้าใช้บริการฉุกเฉินหรือกรณีใดก็ตามไม่ควรถูกเรียกเก็บเงิน หากไปใช่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับระบบหลักประกัน ทั้ง รพ.รัฐทั้งหมด รพ.เอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับระบบ อย่างกรณีหญิงอายุ 65 ปี ไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและส่งต่อ รพ.ผ่าตัดลำไส้อุดตัน หลังรักษา รพ.เรียกเก็บเงิน 9,440 บาท แจ้งเป็นค่ายานอกบัญชียาหลักฯ เบิกจาก สปสช.ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นยาที่จำเป็นและ รพ.ให้คนไข้ คนไข้ไม่ควรชำระเงิน กรณีนี้ก็ได้รับเงินคืน หรือกรณีหญิงอายุ 23 ปี สิทธิบัตรทองที่เชียงใหม่ มีประวัติโรคซึมเศร้า มีหนังสือส่งตัวถูกต้อง เข้ารักษา 2 ครั้ง ถูกเรียกเก็บเงิน 13,795 บาทในช่วง 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค. ถือว่าไม่น้อยในกลุ่มผู้เริ่มต้นทำงาน คนไข้ก็ได้เงินคืน

"ทำไมคนไข้ต้องร้องเรียน ทำไม รพ.ต้องเรียกเก็บเงิน ตรงนี้เป็นส่วนที่อาจเป็นระบบออกใบเสร็จ รพ. ตั้งไว้ว่ายานอกบัญชีออกใบเสร็จเก็บเงินเลย รพ.ควรช่วยสนับสนุนเรื่องนี้เปลี่ยนระบบออกใบเสร็จ สุดท้าย รพ.ก็ต้องคืนเงิน ไม่เป้นประโยชน์ต่อฝ่ายไหน ทุกคนต้องการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันรักษาพยาบาล เป็นต้นเหตุสำคัญที่ต้องผลักดันการรักษาพยาบาลมีมาตรฐานเดียว เพื่อให้การเก็บเงินมีน้อยลงจนไม่มีเลย" น.ส.สารีกล่าว

 

การสำรวจของสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เคยเข้ารับบริการใน รพ.

ด้านน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจของสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เคยเข้ารับบริการใน รพ. จำนวน 303 คน พบว่า เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล 22.9% เรียกเก็บค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 10% ปฏิเสธการรักษา 5.7% ไม่อำนวยความสะดวกส่งต่อ 4.3% และปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.9% ประเด็นคือเจอปัญหาแล้วร้องเรียนหรือไม่ พบว่า ไม่อยากร้องเรียน เพราะกลัวได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล กลัวว่าร้องไปแล้วเวลาเข้ารักษาจะมีปัญหาในการรักษาถึง 80.6% และค่าใช้จ่ายไม่มากพอรับได้ 300-500 บาท จะได้จบๆ ไม่มีปัญหา 1.6% และเข้า รพ.เอกชนสบายใจกว่า 1.6% ไม่มีเวลาเดินเรื่อง ต้องทำมาหากิน 1.6% ไม่อยากทำลายชื่อเสียง รพ. 1.6% และกลัวโดนกลั่นแกล้ง 1.6%

"อย่างกรณีคนไข้ต้องไปฟอกเลือด 2 ครั้ง รพ.ตามสิทธิฟอกได้ครั้งเดียว ก็ต้องส่งต่อไป รพ.เอกชน ซึ่งก็ไปถูกเก็บ 500 บาท และต้องเสียอย่างนี้ต่อเนื่อง เมื่อมีการสอบถาม ทางตนจึงทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช.เขต ทาง รพ.เอกชนก็คืนเงินให้ แต่ไม่รับเคสแล้ว เพราะเก็บเงินไม่ได้ บอกเป็นค่าบริการ เขาบอกว่าไม่จ่ายก็ไม่ล้าง เรามีระบบหลักประกันฯ ทำไมไปใช้สิทธิต้องเผชิญปัญหา ไม่ว่า สปสช.จะเพิ่มสิทธิอย่างไร แต่สิทธิพื้นฐานเดิมยังติดขัดถูกเรียกเก็บเงิน มีบางที่หัวหมอให้จ่าย 30 บาทก่อนถึงจะได้เวชระเบียนไปหาหมอ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกันหาวิธีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิโดยไม่ถูกละเมิด" น.ส.บุญยืนกล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org