ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 5 เมษายน สำนักข่าว The Active องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธาราณะแห่งประเทศไทย(Tha iPBS) สำนักข่าว Hfocus สำนักข่าว The Better News และสำนักข่าว Today ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ตรวจนโยบายสุขภาพพรรคการเมือง เลือกตั้ง 66” โดยเชิญองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยร่วมเสนอความเห็น วิพากษ์นโยบายสุขภาพพรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียงในการเลือกตั้ง 2566

เภสัชกร(ภก.)เพียร เพลินบรรณกิจ นักสื่อสารนโยบายสาธารณสุข สำนักข่าว Hfocus นำเสนอภาพรวมนโยบายด้านสาธารณสุขและสุขภาพที่ทุกพรรคนำเสนอในการหาเสียงเลือกตังครั้งนี้โดยแยกออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ นโยบายหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ นโยบายด้านบุคลากร และนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์

พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ 3 นโยบายคือบัตรประชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วประเทศ ระบบ Telemedicine และโรงพยาบาลของรัฐกระจายอำนาจในรูปแบบองค์กรมหาชนท้องถิ่น ด้านสิทธิประโยชน์ 3 นโยบายคือ ศูนย์ชีวาภิบาลดูแลผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย วัคซีน HIV และตรวจรักษาไวรัสตับอักเสบ C แต่ไม่มีนโยบายด้านบุคลากร

พรรคพลังประชารัฐยังไม่มีนโยบายทั้ง 3 ด้าน แต่มีนโยบายด้านอื่นๆ 2 นโยบายคือ สนับสนุนเงินเดือนละ 10,000 บาทตั้งแต่ท้อง 4 เดือนจนถึงคลอด และนโยบายช่วยเงินเลี้ยงบุตร 3,000 บาทต่อเดือนนาน 6 ปี

พรรคภูมิใจไทย ด้านหลักประกันสุขภาพมีนโยบายเดียวคือ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้านบุคลากรคือเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น 2,000 บาท ด้านสิทธิประโยชน์ มี 5 นโยบายคือ นโยบายรักษามะเร็งฟรีตั้งศูนย์ฉายรังสีทุกจังหวัด นโยบายฟอกไตฟรีตั้งศูนย์ฟอกไตทุกอำเภอ นโยบายอาการป่วย 16 โรครับยาฟรีที่ร้านยา นโยบายคัดกรองผู้สูงอายุเชิงรุกในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น Smart อสม. และนโยบายสิทธิประโยชน์ผู้สูงอายุ

พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขเพียง 2 นโยบายคือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทุกที่และส่งเสริมการเป็น Medical Hub

พรรคก้าวไกล เสนอรวมทั้งหมด 13 ประเด็น ด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธาณสุข 2 ประเด็นคือ Telemedicine และส่งต่อ-หาเตียงด้วยระบบเชื่อมข้อมูลสุขภาพ ด้านบุคลากร 2 ประเด็นคือ ลดความเหลื่อมล้ำกระจายแพทย์สู่ชนบท และลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนด้านสิทธิประโยชน์ 8 ประเด็น คือ ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี คัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี วัคซีนไข้เลือดออกและปอดอักเสบ รักษาสุขภาพดีมีรางวัล กองทุนดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน เพิ่มวันลาดูแลพ่อ-แม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย และสิทธิจบชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้

พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาทเพียงประเด็นเดียว พรรคเสรีรวมไทยก็ฌมรนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีเพียวประเด็นเดียว พรรครวมไทยสร้างชาติมี 2 ประเด็นคือ Telemedicine และสร้างศูนย์สันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ ส่วนพรรคไทยสร้างไทยมีเพียงนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขเพียงด้านเพียวแยกเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย เพิ่มคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 พลัส ปฆิรูประบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยี AI การพัฒนา Telemedicine และ ให้ไทยเป็น Medical Hub ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก การผลิตเวชภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ สมุนไพร

“ภาพรวมของนโยบายสาธารณสุขที่แต่ละพรรคนำเสนอในการเลือกตั้ง 2566 กล่าวได้ว่ามุ่งเน้นไปใน 3 ประเด็นคือการเพิ่มความสะดวก การพัฒนาระบบ IT และ เพิ่มสิทธิประโยชน์”ภก.เพียรกล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จุดอ่อนที่แต่ละพรรคไปไม่ถึง คือการลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ ไม่มีใครสนใจกลุ่มผู้ประกันตน ที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคน ให้สามารถได้รับการบริการเท่าเทียมกับอีก 48 ล้านคนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่จ่ายเงินสบทบในระบบประกันสุขภาพเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่สิทธิอื่นๆ ทั้งข้าราชการและบัตรทอง ได้รับงบประมาณจากแผ่นดินหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ 16,000 บาทต่อหัว หรือบัตรทอง 4,000 กว่าบาท สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องล้าหลังมาก ไม่มีใครมองในเชิงระบบเลย จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับคนอื่น ทุกพรรคควรสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนมาอยู่ในระบบสุขภาพทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อยากเห็นการเยียวยาคนพิการ เสียชีวิตจากการไปใช้บริการ การลดความเหลื่อมทั้ง 3 ระบบ เป็นหัวใจในเรื่องระบบประกันสุขภาพ

เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือ การจัดลำดีบการใชงบประมาณซึ่งต้องเน้นเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมทั้งปัญหาสุขภาพใหม่ๆ เช่นฝุ่น P.M.2.5 เรื่องการเกษตรต่างๆ และการกำกับค่ารักษาพยาบาล

ด้านนายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มองว่า ผิดหวังนโยบายของแต่ละพรรคที่ออกมา เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ไม่ใช่นโยบาย เช่น มะเร็งรักษาทุกที่เป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว อยากเห็นนโยบายที่ให้สิทธิแก่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่จ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพเท่าเทียมกับสิทธิกลุ่มอื่นๆ ควรรวมทุกกองทุนหลักประกันสุขภาพทุกกองทุนเป็นกองทุนเดียว เครื่องมือที่จะทำเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในหลักประกันสุขภาพในมาตรา 9 10 และ 11 ให้บอร์ดสปสช.ปรึกษาหารือกับกรมบัญชีกลางและประกันสังคม เพื่อทำสิทธิประโยชน์ในมาตรฐานเดียวกันเป็นอย่างน้อย

ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าทำระบบสุขภาพของไทยเป็นมาตรฐานเดียวจะควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ การซื้อยารวมของประเทศซื้อโดยกองทุนเดียวสามารถต่อราคาได้ติดเพดาน และลดความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน แล้วเงินที่เหลือก็สามารถเอาไปส่งเสริมป้องกันสุขภาพ เพิ่มสิทธิใหม่ๆ และเพิ่มบุคลากรที่ขาดในหน่วยบริการนั้นๆ

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถุงทวารเทียม บัตรทองซื้อราคาหนึ่ง ประกันสังคมซื้อราคาหนึ่ง สิทธิข้าราชการซื้ออีกราคาหนึ่งทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน หรือโรคไต ประกันสังคมและบัตรทองฟอกในราคา 1500 บาท สิทธิราชการฟอก 2000 บาท ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า 500 บาท เพราะอะไรทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลเหมือนกัน บริการเหมือนกัน”นายธนพลธ์กล่าว

น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขคือ การรับบริการที่ผู้รับบริการต้องใช้เวลานานแทบทั้งวัน ต้องลางาน บางคนต้องเสียรายได้ กลายเป็นมีต้นทุนมากทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงิน ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ก็ต่ำกว่าสิทธิอื่นๆ  เช่น เรื่องยา มองว่าสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม และอยากเห็นการปรับวิธีคิดและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการส่งเสริมป้องกันและมทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเหลือระบบเดียว มีความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญรัฐมนตรีที่เข้ามาดูแลต้องมีความรู้ด้านสุขภาพ

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยว่าสิ่งที่แต่ละพรรคนำเสนอมาเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องทำเรื่องกฎหมายให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้ ศูนย์กลางชีวิตมนุษย์คือสุขภาพ และระบบสาธารณสุขที่ดีต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม หากประเทศไทยยังปล่อยให้มี 3 กองทุนในระยะยาว ถ้าคิดในเชิงสถิติจะเจ๊ง โดยเฉพาะกองทุนข้าราชการกลืนกินระบบเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม เรื่องนี้เป็นระยะยาวที่ต้องแก้ไขให้เกิดหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ขณะนี้มีปัญหาคือเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ 2 กองทุนคือประกันสังคมและข้าราชการไม่ครอบคลุม เป็นการริดรอนสิทธิทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยไม่เห็นพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องนี้เลย

รศ.กฤตยากล่าวว่า จำเป็นต้องมีนโยบายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และนโยบายตัดขวาง เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) นโยบายระบบฉุกเฉิน อยู่บนคอนเซปต์ ผู้ป่วยปลอดภัย ผู้ทำงานสาธารณสุขปลอดภัยด้วย ซึ่งเป็นคอนเซปต์ใหม่ของ WHO หลังโควิด ซึ่งเห็นด้วยกับการลดเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนข้อเสนอเรื่องเทเลเมดิซีนถือเป็นเรื่องที่ดี

ขณะที่ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า 70 % ของไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ เป็นเหตุผลที่ต้องลงทุนด้านสุขภาพเพื่อลดผู้ป่วย แต่งบที่ใช้ในการป้องกันโรคปัจจุบัน 7% และเมื่อลงลึกจริงๆ งบส่วนนี้ยังอยู่ในระหว่างก่อนป่วย คัดกรองหรือให้วัคซีน ซึ่งสิ่งที่คาดหวังและยังไม่เห็นจากนโยบายพรรคการเมืองคือการทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น ภาษีสุขภาพ ประเทศไทยมีภาษีเหล้า ภาษีน้ำตาล แต่จริงๆ ยังพัฒนาได้อีก และมาตรการทางภาษีถือเป็น 3 WIN คือลดการบริโภค ลดผลกระทบต่อสุขภาพ รัฐบาลได้เงินเอาไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อีก โดยสามารถใช้มาตรการภาษีกับสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โซเดียม ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้ทำฉลากอาหารโชว์เขียว เหลือง แดง ตามสารหวานมันเค็ม เกินกำหนดหรือไม่ แต่มีผู้เสียประโยชน์จากนโยบายนี้ ต้องท้าทายนักการเมืองว่ากล้าปกป้องสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือไม่

ภญ.อรทัยกล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการแพทย์ทางไกลซึ่งทุกพรรคมีนโยบายเรื่องนี้เหมือนกันหมด ดังนั้นอยากเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือน รวมทั้งนโยบายกฎหมายที่ปกป้องสุขภาพประชาชน แก้ปัญหาโครงสร้างอิทธิพลทางการค้าที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนให้ได้ภายในหนึ่งปี

ด้านนายกฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้า กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องป้องกันส่งเสริมไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายเท่านั้น แต่ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง และปัญหาที่รอการรักษาไม่ได้ ควรให้มีระบบการดูแลรักษาที่เป็นมิตร ไม่ต้องใช้เวลาหรือขั้นตอนในการรอพบแพทย์นานถึง 2-4 เดือน เพราะคนป่วยอาจรอไม่ได้ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับผู้ดูแลด้วย และต้องมีระบบฟื้นฟูให้กลับสู่สังคมด้วย

นายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า สุขภาพคนไทยไม่ควรอยู่แค่ในมือแพทย์ แต่ควรให้ความสำคัญกับองค์กรหรือชุมชนที่สามารถให้บริการสุขภาพ เช่น กลุ่ม SWING ที่สามารถดูแลคัดกรอง ช่วยลดภาระแพทย์ได้มากโดยไม่ต้องไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าจะมีนโยบายเป็นเมดิคัล ฮับ ต้องดูแลคนในประเทศให้ได้ก่อน และไม่ใช่จำกัดแค่เฉพาะคนเชื้อชาติไทย เพราะสุดท้ายแล้วคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานก็จะส่งผลต่อสุขภาพคนไทยอยู่ดี

พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในประเด็นผู้สูงอายุ และการดูแลผู้ป่วยประคับประคองว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งประชากร 20 % เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อระบบสุขภาพต่อไป โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยประคับประคอง

พญ.ศรีเวียงกล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มติดเตียงกับผู้ป่วยประคับประคองต้องมีหน่วยงานดูแล ต้องพัฒนาระบบให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก หมอพยาบาลที่มาทำงานด้านนี้ในปัจจุบันเป็นงานฝาก ไม่มีแพทย์พยาบาลทำงานเต็มเวลาหรือมีน้อยเพราะไม่มีหน่วยงาน ไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจน ต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนให้ประชาชนได้เข้าถึงการดูแลแบบนี้ ที่สำคัญไม่มีใครอยากใช้เวลาสุดท้ายของชีวิตในโรงพยาบาลจะทำอย่างไรให้มีบริการที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำลังผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการ แต่ปัญหาคืองบที่สปสช.จ่ายรายหัว 6,000 บาทต่อปีไม่เพียงพอ ซึ่งควรจะนำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานทั้ง อปท. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารวมกันเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย RSA มองในประเด็นทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมว่า ควรเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษา ซึ่งปัจจุบันระบบโทรศัพท์ให้คำปรึกษาเข้าถึงยากมาก ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้สามารถเรียนจนจบ ทำงานที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในอนาคต อยากให้พรรคการเมืองมองความสำคัญเรื่องนี้ ลูกที่โตจากแม่ที่มีคุณภาพและมีความสุข เราจะมีสังคมที่มีความสุข บางพรรคพูดถึงสวัสดิการเด็กในการเลือกตั้งปี 2562 เคยพูดจะได้ 3,000 บาทครั้งนี้เพิ่มเป็น 10,000 บาทแล้วจะเป็นจริงได้หรือ

ด้าน นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ จากสำนักงานพัมนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า มองภาพอนาคตสิ่งที่อยากได้คือระบบบริการสุขภาพที่เป็นธรรม ทั้งจำนวนเงินที่ใส่ในระบบ วิธีการจ่ายเงิน เรื่องบริการ สิทธิประโยชน์ที่เท่ากัน รูปแบบบริการที่เหมือนกัน ซึ่งในระยะสั้นต้องแก้พรบ.ประกันสังคมให้เกิดความเป็นธรรมต้องทำให้แต่ละกองทุนมีประสิทธิภาพเช่นจัดระบบปฐมภูมิสำหรับกองทุนข้าราชการ  ไม่ใช่ทุกคนวิ่งเข้าโรงพยาบาลใหญ่ และดูแลเรื่องยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับนโยบายส่งเสริมสุขภาพอยากให้มองว่าอย่าทำนโยบายที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ เพราะสี่ปีที่ผ่านมามีพรรคการเมืองบางพรรค ทำนโยบายที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ

ปิดท้ายการเสวนาโดยภก.เพียรได้สรุปภาพรวมข้อเสนอของเวทีเสวนา โดยนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ วงเสวนามีข้อเสนอ 6 ประเด็นประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้ได้สิทธิเท่ากับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า-ข้าราชการ เรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคยังไม่เท่ากับสิทธิอื่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ การไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากการรักษาพยาบาล การบริหาร หารรอคิว การไม่ได้ค่าจ้างเมื่อลางาน การเก็บภาษีสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพเช่น แอลกอฮอร์ ยาสูบ โซเดียม และการอุดหนุนราคาอาหาร-สินค้าสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้

ด้านบุคลากร มีข้อเสนอ 2 ประเด็น คือเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะจิตแพทย์ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 1.3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชน การสร้าง ผู้ดูแล( Care Giver) การพัฒนาหน่วยปฐมภูมิจากในชุมชน

ด้านสิทธิประโยชน์มีข้อเสนอ 11 ประเด็น ประกอบด้วยการเพิ่มนโยบายและงบประมาณการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สิทธิประโยชน์สุขภาพผู้หญิงเช่นการทำ Ultrasound ขยายเรื่องการเยียวยาจากการใช้บริการทางการแพทย์ นโยบายเรื่องผู้สูงอายุ ระบบฉุกเฉินต้องไม่มีการเก็บเงินเพิ่ม และการหาเตียงหลังจากใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว การเพิ่มสิทธิประโยชน์โรคจากการทำงาน สิทธิประโยชน์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ สิทธิประโยชน์กับผู้ป่วยจิตเวชและนโยบายสุขภาพจิต แก้ปัญหาการรอคิวนานสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้า การสนับสนุนผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช การป้องกันผู้ป่วยจิตเวช สิทธิประโยชน์สำหรับ LGBTQ และกลุ่มอาชีพขายบริการทางเพศ (Sex Worker) การดูแลสุขภาพในระดับชุมชน การสนับสนุนงบประมาณสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิระดับชุมชน การดูแลประคับประคองในผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งร่างกายและจิตใจโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพบริการ การดูแลในชุมชนโดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล