ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจุฬาฯ เผยภาวะ “ก้อนเลือดแห้งในสมอง” พบมากในผู้สูงอายุ อาการอาจค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว แต่หากเป็นมากอาจคล้ายลมชัก  ส่วนความร้อนอาจทำให้น้ำในโปรตีนขยายตัวหรือหดเล็กลง  หรือความร้อนอาจทำให้คนไข้หมดสติ ต้องพิจารณาเป็นรายๆ

ก้อนเลือดแห้งในสมอง คืออะไร

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ก้อนเลือดแห้งในสมอง ว่า สำหรับอาการก้อนเลือดแห้งในสมอง สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปมีอุบัติการณ์เกิดทั้งในและต่างประเทศ โดยพบมากในกลุ่ม ส.ว. หรือ ผู้สูงวัย เพราะเมื่ออายุมากขึ้น เส้นเลือดดำที่ขึงตรึงในกะโหลก ก็อาจเสื่อมได้ เมื่อเวลาที่สมองถูกกระแทก แม้ไม่ได้กระแทกรุนแรง ก็ทำให้เส้นเลือดดำที่ขึงอยู่มีเลือดรั่วซึมออกมาอยู่บริเวณผิวสมองที่ใต้เยื่อหุ้มสมอง และด้วยเป็นเส้นเลือดดำ แรงดันเลือดน้อย เลือดก็จะค่อย ๆ ซึมออกมาแล้วจะหยุดไหลเอง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในการดูดซึมเลือดให้หายไป จากนั้นจะเหลือเป็นน้ำโปรตีนข้น ๆ ที่บางครั้งก็อาจขยายตัวได้ โดยขณะนั้นเองคนไข้อาจไม่มีอาการใด ๆ เลย ทำให้ไม่รู้ตัวว่ามีน้ำโปรตีนอยู่ใต้เยื่อหุ้มสมอง แต่กรณีที่ขยายตัวใหญ่มากก็ทำให้เกิดอาการได้ เช่น ปวดศีรษะ บางรายมีอาการคล้ายลมชัก

ทั้งนี้ การจะตรวจดูว่ามีก้อนน้ำโปรตีนในสมองหรือไม่ ต้องใช้คอมพิวเตอร์สมองตรวจดู จากนั้นต้องประเมินความจำเป็นในการรักษาด้วยการเจาะระบายน้ำออก ซึ่งต้องดูเป็นราย ๆ ไป บางรายที่ไม่กระทบการทำงานของสมอง เพราะสมองมีการปรับตัวได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเจาะระบายออก

ความร้อนมีผลต่อการเกิด ก้อนเลือดแห้งในสมอง หรือไม่

“เลือดที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเนื้อสมองจริง แต่กองอยู่ที่ผิวสมอง ส่วนความร้อนก็มีส่วนในการทำให้น้ำโปรตีนขยายตัวหรือหดเล็กลงได้ หรือความร้อนอาจทำให้คนไข้หมดสติ จากนั้นเมื่อไปตรวจก็อาจเจอว่ามีน้ำโปรตีนในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งนั้นต้องดูให้ละเอียดว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง และมีความจำเป็นต้องเจาะออกหรือไม่ ต้องดูเป็นราย ๆ ไป” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าอาการที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป จะมีข้อสังเกตอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อาการไม่ได้เกิดเฉียบพลัน แต่ต้องดูว่ามีการตกเลือดซ้ำซ้อนในผิวสมองหรือไม่ เพราะจะทำให้น้ำโปรตีนขยายตัวขึ้นเร็ว ซึ่งหากสมองปรับตัวไม่ทัน ก็ทำให้เกิดอาการฟ้องขึ้นมา ส่วนการระวังตัวของผู้สูงอายุไม่ให้เกิดความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะแม้จะล้มแล้วเอาลำตัวลง ก็สามารถสะเทือนถึงเส้นเลือดดำในสมอง ทำให้เลือดรั่วซึม  ๆ ออกมาได้เช่นกัน รวมถึงบางรายเมื่อสูงอายุ ก็จะเริ่มกินยาป้องกันเส้นเลือดตีบ ฉะนั้น เมื่อมีเลือดซึมออกมา ทำให้เลือดไหลไม่หยุด ยิ่งทำให้เลือดออกมากองที่ผิวสมองมากขึ้น ดังนั้น การกินยาเส้นเลือดตีบ ไม่ว่าจะหัวใจหรือสมองเพื่อป้องกันไม่ให้ตันนั้น ต้องมีข้อบ่งชี้และอยู่ในการประเมินของแพทย์

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับอาการเลือดออกในสมองนั้น มีทั้งแบบอาการค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่กล่าวมา และอีกแบบคือ เลือดออกเฉียบพลัน เพราะถูกกระแทกรุนแรง เช่น ล้ม หรือถูกตีศีรษะ ซึ่งทำให้คนไข้ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนตำแหน่งที่ถูกกระแทก หากเกิดที่ขมับ ที่กะโหลกบางและมีเส้นเลือดแดงอยู่ ก็ทำให้เส้นเลือดแดงแตกออกซึ่งจะเป็นคนกรณีกับเส้นเลือดดำ ดังนั้น ของเส้นเลือดแดงแตกอาการจะเกิดขึ้นเร็ว และในช่วงแรกที่ถูกกระแทกอาจจะไม่เจอความผิดปกติในคอมพิวเตอร์สมอง เพราะเลือดแดงจะค่อย ๆ ซึมและออกมาเร็วในระยะหลัง ฉะนั้นต้องดูอาการที่ รพ. อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง