ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. พัฒนา web-based application จัดการข้อมูลผลตรวจสุขภาพประชาชน ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี  พื้นที่ควบคุมมลพิษจากการเป็นแหล่งผลิตหินก่อสร้างใหญ่สุดในประเทศ เพื่อรองรับการเฝ้าระวังความเสี่ยงจากฝุ่น ป้องกัน ดูแลรักษา ส่งต่อรวดเร็ว  

พัฒนาแอปฯเฝ้าระวังพื้นที่ควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งผลิตหินก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้มีปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศในช่วงหน้าแล้งของทุกปี และมีค่าสูงเกินมาตรฐานติดต่อกันหลายวันอย่างต่อเนื่อง จึงถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2547 หน่วยงานในพื้นที่ต้องจัดทำทะเบียนผู้มีโอกาสเสี่ยง จัดทำฐานข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชน เพื่อนำมาวิเคราะห์เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งเดิมใช้วิธีบันทึกลงสมุดสุขภาพเก็บในแฟ้มเอกสาร ทำให้ใช้เวลาในการสืบค้นนาน การเพิ่มหรือแก้ไขข้อมูลยุ่งยาก อาจเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลและยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการทำแบบฟอร์มประวัติผู้มารับบริการ

 

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 (สคร.) จังหวัดสระบุรี, โรงพยาบาลสระบุรี, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี และ ศูนย์อนามัยที่ 4 จังหวัดสระบุรี จึงร่วมกันพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเขตควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบข้อมูล เพื่อให้สืบค้นและประมวลผลข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการ ติดตามภาวะสุขภาพกลุ่มเสี่ยง และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม และกำกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตตำบลหน้าพระลาน ด้วยการพัฒนา web-based application ในการจัดการข้อมูลกลุ่มเสี่ยง โดยนำองค์ความรู้ทางอาชีวเวชศาสตร์มาประมวลผลการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ปอดตามมาตรฐาน ILO และผลการตรวจสมรรถภาพปอด และพัฒนาด้วยโปรแกรมจัดการข้อมูลเชิงสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอผ่านทางบราวเซอร์ โดยใช้โปรแกรมในการจำลองเครื่องแม่ข่ายที่เป็น Open Source เพื่อลดปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์

ประเมินผลพบกลุ่มเสี่ยง 3 ระดับ

 "จากการประเมินผลพบว่า สามารถนำมาช่วยในจัดการข้อมูลเพื่อวางแผนเฝ้าระวัง ดูแล รักษา และส่งต่อ แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถกำหนดกลุ่มเสี่ยงเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง ขณะที่โรงพยาบาลสามารถติดตามและยืนยันกลุ่มเสี่ยงโดยเปิดดูจากเว็บแอปพลิเคชัน มีประสิทธิภาพและประโยชน์ในระดับร้อยละ 88.54 มีความพึงพอใจเกี่ยวกับความเป็นปัจจุบันและทันสมัย อยู่ในระดับมากที่สุด และมีความพึงพอใจเรื่องตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ประโยชน์ครบถ้วนตามความต้องการเข้าใจง่าย และข้อมูลถูกต้องน่าเชื่อถือได้ อยู่ในระดับมาก ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นพ.รุ่งเรืองกล่าว

 

ทั้งนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอแนะให้พัฒนาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และขยายผลในพื้นที่อื่น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีชุดข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบอาชีพในโรงโม่หินและเหมืองหิน เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเขตควบคุมมลพิษ และให้กระทรวงแรงงานร่วมใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้ได้ จะทำให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และนำไปใช้ในการกำหนดแพ็กเกจการตรวจสุขภาพของหน่วยบริการตรวจสุขภาพให้เป็นมาตรฐานการเดียวกัน เพื่อความสะดวกและถูกต้องในการบันทึกและประมวลผลความเสี่ยงในโปรแกรม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง