ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีเกาะมากที่สุดในประเทศไทย ระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลจึงเป็นโจทย์สำคัญของจังหวัดพังงา โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ตามนโยบาย Health for Wealth (คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง)  ของกระทรวงสาธารณสุข และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน

หลังเข้ามารับหน้าที่ได้ 2 เดือน นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา ลงพื้นที่และให้แนวทางในการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง โดยยึดแนวแนวทาง 3 ท.ของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ “ทำทันที ทำต่อเนื่อง ทำและพัฒนา”

“พังงามีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะความสวยงามในท้องทะเล มีทรัพยากรที่ดีมา มีต้นทุนเรื่องการท่องเที่ยวที่ดีในแง่ของการมุ่งเน้นเรื่อง Health for Wealth การพัฒนาสุขภาพให้ดี เพื่อส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมดี ประเทศมีความเข้มแข็ง” นพ.ชวนนท์ ย้ำถึงแนวทางการพัฒนา

Hfocus มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ เกี่ยวกับนโยบายมุ่งเน้น เรื่องสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล และการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ในฐานะนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงาคนใหม่

 

จัดหน่วยแพทย์ในจุดท่องเที่ยวหลัก

ในส่วนของพื้นที่เกาะที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักๆ อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงามีแผนปฏิบัติการสาธารณสุขทางทะเล โดยการจัดตั้งหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลเป็นชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจคอยบริการและให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2561

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสสจ.พังงา กับฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3  อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

นพ.ชวนนท์ กล่าวว่า หน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินนี้จะมีตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีการเปิดเกาะ ระหว่างเดือนต.ค.-พ.ค. ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การดูแลหลักๆ จะเป็นพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีในการดูแลภาวะผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือแม้แต่ผู้ป่วยทั่วไป

“ล่าสุดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์มีคนมาใช้บริการตลอด 7 วัน ประมาณ 70-80 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น แพ้แดด มีอาคารคัน หรือโดนหอยบาด เป็นต้น”

 

เรือพยาบาล-สกายดอกเตอร์รองรับเคสเร่งด่วน

ขณะที่หากมีภาวะฉุกเฉินก็จะมีเรือพยาบาลจอดอยู่บริเวณใกล้เคียงอุทยานฯ สามารถส่งต่อผู้ป่วยขึ้นฝั่งให้กับโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ (สำหรับพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์) รพ.ใกล้เคียง หรือรพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต่อไป เช่นเคสล่าสุดที่คาดว่าจะเป็นฮีทสโตรกก็ได้ส่งต่อไปยังรพ.ระนอง

สำหรับเรือพยาบาลจะมีทั้งหมด 3 ลำ โดยอีก 2 ลำสแตนบายอยู่ที่หมู่เกาะสิมิลัน และเกาะยาว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ภายในเรือมีอุปกรณ์ช่วยเหลือไม่ต่างจากรถพยาบาลบนบกแต่อย่างใด

“ในแง่ของการท่องเที่ยว เราให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว”

ไม่เพียงแค่การเตรียมความพร้อมทางเรือเท่านั้น แต่ยังมีแผนปฏิบัติการทางอากาศหรือ สกายดอกเตอร์ด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่ 2 จุดหลักอย่างหมู่เกาะสิมิลันและสุรินทร์ แต่มีการซักซ้อมไว้ในหลายๆ จุด หากมีเหตุการฉุกเฉินหรือเป็นเคสจำเป็นเร่งด่วนที่รอไม่ได้ จะมีการส่งต่อทางสกายดอกเตอร์ เพียงแต่ยังมีจำนวนไม่เยอะเท่ากับการส่งต่อทางเรือ

ทั้งนี้การส่งต่อทางเรือในจุดท่องเที่ยว 3 จุดหลักๆ จะใช้เวลาประมาณ ครึ่ง-1ชม. ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะเป็นเรื่องการเข้าถึงการบริการของประชาชน ซึ่งพังงามีรพ.สต.ที่อยู่บนเกาะทั้งหมด 9 แห่ง สามารถรองรับการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิได้เบื้องต้น โดยแต่ละที่จะมีการเซตระบบภาวะฉุกเฉินสำหรับการส่งต่อ เช่น เรือฉุกเฉิน ที่ในอดีตไม่สามารถเบิกได้ แต่ปัจจุบันสามารถเบิกจากกองทุนสาธารณสุขฉุกเฉินได้แล้ว หรือหากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณ 3 เกาะจุดท่องเที่ยวก็อาจประสานงานเพื่อใช้เรือพยาบาลเป็นกรณีไป

พัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

นอกจากเรื่อง Health for Wealth แล้ว เรื่อง 3 หมอในระบบปฐมภูมิ ได้แก่ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ของโรงพยาบาลทั่วไป และเทเลเมดิซีนก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักในแผนพัฒนา เพื่อการเข้าถึงบริการในพื้นที่ห่างไกล

ล่าสุดนพ.ชวนนท์ ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มา เพื่อไปพัฒนาเรื่องเทเลเมดิซีนให้กับชาวมอแกน กว่า 300 ชีวิต ซึ่งจุดที่พวกเขาอยู่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เนตเลย โดยได้ร่วมกับไทยคมเอ็กซ์เพรส ติดตั้งอินเตอร์เนตผ่านดาวเทียมตรงจุดที่เป็นศูนย์สาธารณสุขชุมชน

“(23 เม.ย.) ผมเพิ่งไปทดลองระบบที่หมู่เกาะสุรินทร์ พร้อมกับทดลองทำเทเลเมดิซีนกับคุณหมอที่รพ.คุระบุรีชัยพัฒน์ ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จึงเป็นการเพิ่มการเข้าถึงเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับพี่น้องชาวมอแกน” นายแพทย์สสจ.พังงา เผยถึงการพัฒนาระบบเทเลเมดิซีน

นอกจากการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของชาวมอแกนแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วยในกรณีต้องการคำแนะนำหรือการประเมินอาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

ยกระดับมาตรฐานรพ.สต.

อีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพของสถานบริการในทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลทั่วไป ที่มีอยู่ 2 แห่ง รวมถึงรพ.ชุมชน รพ.สต. คือมุ่งเน้นคุณภาพ ตามแนวทางของกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม ปรับโฉมเรื่องความทันสมัย รวมถึงการเน้นการบริการที่ดีเป็นมิตรกับประชาชน

อย่างที่บอกว่าพังงามีรพ.สต.บนเกาะ ทั้งหมด 9 แห่ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ก่อนจะมีการส่งต่อในกรณีที่เกินขีดความสามารถ และมีความพยายามหารือกับทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหรือแผนการส่งต่อในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันในแหล่งท่องเที่ยวอย่างเขาหลัก ก็มีศูนย์การแพทย์เขาหลักเป็นศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางทะเลและดูแลนักท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยหากมีการใช้ AED ตามจุดสำคัญที่ตั้งไว้พื้นที่ สัญญาณจะมาขึ้นที่ศูนย์ฯ และจะทราบว่ามีเหตุเกิดขึ้นตรงไหนทันที และอยู่ในนโยบายการพัฒนาสถานพยาบาลเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติภัยทางทะเล จังหวัดพังงา โดยบูรณาการกับหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมรับมือในกรณีฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

“ตามแนวทางของจังหวัดพังงาคือ พังงาผาสุข 1 ใน 4 สุขของพังงาคือการมีสุขภาพที่ดี ร่วมกับแนวทางของสาธารณสุขเองที่ตั้งใจจะดูแลพี่น้องประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี โดยนำแนวทาง 3 ท.ของท่านปลัดมาปฏิบัติกับนโยบายทั้ง 3 อย่าง คิดว่าจะทำให้เกิดพังงาผาสุขได้ ทั้งต่อชาวพังงาทั้ง 2 แสนกว่าคน และนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในเรื่องการท่องเที่ยว มั่นใจได้ครับ” นพ.ชวนนท์ ยืนยันหนักแน่น