ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.- สอน. สานพลังภาคีสุขภาพ ชูนวัตกรรมสร้างสุข HLO สร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของตนเอง สู่สุขภาวะครอบครัว-ชุมชน-สังคม ทำงานเชิงรุกป้องกันโรค NCDs ผ่านหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ สู่การมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลช มหานาค กทม. มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา (สอน.) จัดงานเสวนาและร่วมประชุมวิชาการระดับประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การเป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพปฐมภูมิ HLO นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนา หัวข้อทิศทางการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การพัฒนาคุณภาพระบบสุขภาพปฐมภูมิ สู่องค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ 10 องค์ประกอบ 13 ขั้นตอน เพื่อประชาชนสุขภาพอย่างยั่งยืนว่า สสส.สนับสนุนให้ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ สถานีอนามัยได้รับพระราชทานนาม ทั้ง 92 แห่ง เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literate organization : HLO) ให้พัฒนารูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ แก่ประชาชน และชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ 

 

“การที่บุคคลมีความสามารถด้านรอบรู้ด้านสุขภาพ ครอบครัวรอบรู้ด้านสุขภาพ และชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถได้รับ หรือเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารสุขภาพ ทำให้เข้าใจข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ ตัดสินใจด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพระดับบุคคล และชุมชนได้ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมคือพัฒนา 16 สอน. เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น สอน.ดอนฉิมพลี จ. ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนา รพ.สต. 11 แห่งในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ให้เป็นองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ตอบสนองนโยบาย “สาสุข สุขใจ” ของกรมอนามัย สอน.บ้านขาม จ.สกลนคร ได้รับรองคุณภาพการใช้ยาสมเหตุผลด้วยกระบวนการ HLO จาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน ปี 2566” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ทุก สอน. สามารถไปถึงหัวใจของ HL คือ ความรอบรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะ คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ต้องมี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่นำเค้าไปสู่ความรอบรู้ วางแผนการจัดการเปลี่ยนพฤติกรรม “ชวน เชียร์” ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมแต่ละบุคคลได้ และพัฒนาสื่อ Key message ทำให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ในประเด็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ทำให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และสถานีอนามัยได้รับพระราชทานนาม เป็น HLO ปรับรูปแบบใหม่ 1. ผู้ให้บริการปรับความคิดโดยมีข้อมูลเป็นฐานในการทำงาน 2.ทำให้ผู้มารับบริการสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเอง 3. รูปแบบเครือข่ายทำหน้าที่เป็นทีมสุขภาพเชิงรุก ช่วยให้ประชาชนเกิดความรู้ และการขับเคลื่อนคลินิก NCDs กลายเป็นการดูแลสุขภาพ และเน้นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs ให้กลุ่มเสี่ยงมีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งเสริมชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพให้ชุมชนจัดการสุขภาพตนเอง ทั้งครอบครัว หมู่บ้าน หรือตำบล ชุมชน เพื่อควบคุมและป้องกันโรค NCD จนเกิดกลไกสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับพื้นที่