ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอยงยุทธ” เปิดรายละเอียด Serial killer  ลักษณะฆาตกรรมต่อเนื่อง ย้ำ! ผู้กระทำมีทั้งป่วย และไม่ป่วย   ด้าน ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต ลั่นไม่จริง! กรณีสังคมกังวลผู้กระทำผิดอ้างป่วยจิตเวชจะได้รับโทษน้อย ชี้ถ้าผิดต้องรับโทษแน่

 

ลักษณะ Serial killer

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  นักจิตวิทยา  อธิบายถึงเรื่องนี้ ว่า  Serial killer ว่า เป็นการทำฆาตกรรมต่อเนื่องมากกว่า 2 ครั้ง โดยมีการเว้นช่วงในแต่ละครั้ง โดยผู้กระทำอาจแบ่งเป็น 2 สาเหตุ คือป่วย และไม่ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน หรือความต้องการทางเพศ

 

กระทำผิดแบบมีอาการป่วย

กรณีผู้กระทำที่มีอาการป่วยจะมีอาการหลงผิด หวาดระแวง และมักจะใช้วิธีรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิดของตนเอง อาการหลงผิดนี้จะมีลักษณะเป็นระบบจนแยกยากจากความเชื่อที่ฝังหัวในแบบอคติต่อคนที่แตกต่างด้วย เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ความพิการ การฆาตกรรมนี้จึงมักทำกับคนนอกครอบครัว

 

กระทำผิดหวังผลประโยชน์

ส่วนกรณีผู้กระทำที่มีลักษณะกระทำเพื่อผลประโยชน์มักจะวางแผน เพื่อให้ได้ประโยชน์ในรูปแบบทรัพย์สินเงินทอง (เงินประกัน, มรดก, หนี้ ฯลฯ) และมักกระทำต่อคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว

Serial killer ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นผู้ชายและใช้วิธีที่รุนแรง เช่น ยิง แทง กดน้ำ และผู้กระทำมักมีอาการป่วยหรือด้วยแรงจูงใจทางเพศ ส่วน serial killer ผู้หญิงมักจะเป็นแบบเพื่อผลประโยชน์และส่วนใหญ่ใช้วิธีไม่รุนแรง โดยเฉพาะใช้ยาพิษ

ข้อคิดเห็นทางสุขภาพจิตที่สำคัญก็คือ ในกลุ่มป่วยทางจิตมักจะเป็นผู้ที่แยกตัว ดังนั้นสมาชิกครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดจึงมีความสำคัญในการเห็นสัญญาณเตือนและนำเข้าสู่การักษาแต่เนิ่น ๆ

ส่วนในกลุ่มที่ไม่ป่วยนั้นมีเหตุปัจจัยที่ส่งผล เช่น การได้รับความรุนแรงและการเลี้ยงดูที่ขาดการปลูกฝังความรับผิดชอบชั่วดี ซึ่งทั้ง 2 อย่างก็มาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ดังนั้นการดูแลให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพและการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา

การลงข่าวมีความสำคัญ เพราะฆาตกรรมต่อเนื่องมักจะรู้สึกได้รับความสำคัญจากข่าวที่ดราม่า ดังนั้น การลงข่าวควรเน้นการให้ความรู้ถึงสาเหตุการป้องกันและการช่วยเหลือ มากกว่าเรื่องการกระทำของตัวบุคคลเพื่อป้องกันการทำซ้ำกรณีที่ยังไม่ถูกจับ และการเลียนแบบจากกลุ่มเปราบางอื่นๆ กรณีที่ถูกจับแล้ว

อธิบดีกรมจิตฯ ลั่นป่วยจิตเวชถ้าผิดไม่ลอยนวล- ป่วยหรือไม่ต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีผู้กังวลว่า ผู้กระทำผิดอ้างป่วยจิตเวชจะได้รับโทษน้อย ว่า ไม่จริง เพราะถ้าเกิดความผิด ก็ต้องรับโทษตามขบวนการยุติ เพียงแต่ศาลจะพิจารณาการลงโทษอย่างไร แต่ไม่ได้แปลว่าป่วยแล้วจะลอยนวล

เมื่อถามถึงลักษณะการลงมือของแอมไซยาไนด์ เข้าข่ายฆาตกรต่อเนื่อง หรือ ไซโคพาธ (Psychopath)  พญ.อัมพร กล่าวว่า  น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และขอย้ำว่า แพทย์ไม่สามารถมองใครแล้วบอกว่าเป็นโรคอะไรได้ เพราะผิดจรรยาบรรณของแพทย์ การจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมีการซักประวัติ ตรวจสุขภาพแล้ว และย้ำว่าจิตแพทย์ก็จะไม่เอาข้อมูลเหล่านั้น มาถ่ายทอดสู่สาธารณะ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org