ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปสช.เร่งเยียวยาชาย 64 ปี ถอนฟัน 12 ซี่ดับตามมาตรา 41 บัตรทอง  ด้านทันตแพทยสภาออกแถลงการณ์อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง หากพบการประกอบวิชาชีพที่ขัดต่อมาตรฐาน ทันตแพทยสภาจะเร่งดำเนินการอย่างเหมาะสม

 

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวชายอายุ 64 ปีชาวสิงห์บุรี เสียชีวิตโดยระบุว่ามีการไปถอนฟัน 12 ซี่ใน รพ.แห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี โดยแบ่งถอนฟันวันละ 6 ซี่ แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้ญาติติดใจในสาเหตุและต้องการทราบข้อเท็จจริง ว่า กรณีนี้มีการประสานส่งเรื่องมายัง สปสช.และได้เข้าไปดูแลแล้ว  ซึ่งสามารถเข้ารับการเยียวยาตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ โดยทาง สปสช.เขต 4 ในพื้นที่ จะเป็นผู้พิจารณาจ่ายเงินชดเชย ซึ่งเป็นการจ่ายให้ก่อนทันทีโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด

 

ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ส่วนการถอนฟันจำนวนมากหลายๆ ซี่เช่นนี้ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เวลาถอนฟันจะมีการประเมินอาการคนไข้ว่าทำไมต้องถอน หากเป็นคนปกติจะไม่ถอนเยอะแบบนี้ จะค่อยๆ ทยอยถอนฟันออก แต่ในรายที่มีความผิดปกติ เช่น คนไข้ที่ป่วยโรคเรื้อรังหลายโรคและมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือคนไข้เป็นมะเร็งไปฉายรังสี แพทย์ก็จะส่งมาให้ถอนฟัน เพราะกรณีฉายรังสีหากไม่ถอนฟันจะมีโอกาสที่กระดูกตายและฟันจะเสีย ทำให้เกิดการอักเสบแถวใบหน้าอย่างรุนแรง ส่วนกรณีเป็นโรคทางระบบบางอย่างก็กลัวว่าคนไข้ติดเชื้อ เนื่องจากรากฟันคือฟันที่ผุจนถึงโพรงประสาทฟันแล้ว มันย่อยยุ่ยไปหมดแล้ว เป็นรากเน่าๆ อยู่ในปาก โอกาสที่เชื้อโรคจะสะสมอยู่ตรงนั้นก็จะเยอะมาก ถ้าเกิดพลาดพลั้งขึ้นมารากฟันมีความคมเวลาไปเคี้ยวอาหาร โดนแก้มโดนลิ้นเป็นแผลก็เกิดติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นมา ก็มีสาเหตุมาจากฟันจากรากฟันที่เน่าอยู่ในปาก เขาจึงมักเอาออก

คนไข้มีโรคประจำตัวหลายอย่าง

"คนไข้รายนี้ก็มีโรคประจำตัวหลายอย่างและแพทย์ส่งมาให้ถอนฟันออก ทันตแพทย์ที่ทำเท่าที่ผมทราบ ก็เป็นทันตแพทย์เฉพาะทางแมคฟิลโลเฟเชียล การถอนฟันเป็นเรื่องง่ายมาก แล้วรากฟันไม่ได้ถอนยาก กระบวนการถอนฟัน เมื่อถอนฟันเสร็จก็มีการแต่งแผลเย็บแผลอย่างเรียบร้อย ดังนั้น ถามว่าถอนฟัน 12 ซี่ทำได้ไหม ก็คือทำได้ภายใต้การประเมินของทันตแพทย์" ทพ.อรรถพรกล่าว

 

เมื่อถามว่าญาติติดใจว่าอาจมีเลือดออกมากทำให้เสียชีวิต ตรงนี้มีการตรวจสอบถึงการดูแลอย่างไรหรือไม่ ทพ.อรรถพรกล่าวว่าตอนที่เขาร้องมาที่ สปสช.ตามมาตรา 41 จะมีการเชิญเข้าไปดูข้อมูลทั้งหมดก่อน ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะมีรายละเอียดต้องเข้าไปดู แต่เชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์น่าจะทราบผลข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในเรื่องกระบวนการเยียวยาการรักษา เราให้โดยไม่พิสูจน์ถูกผิด

 

เมื่อถามว่าการถอนฟันมากเช่นนี้ มีวิธีการดูแลอย่างไร ต้องทำฟันเทียมด้วยหรือไม่ ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ทันตแพทย์จะเป็นคนให้คำแนะนำการดูแลแก่คนไข้และญาติ ว่าหลังถอนฟันต้องทำอย่างไร กรณีนี้ถอนและเย็บไหมก็จะมีการนัดมาฟอลโลว์อัพและก็นัดมาตัดไหม ทั้งนี้ โดยปกติไม่ว่าจะถอนฟันซี่เดียวหรือหลายซี่การดูแลไม่แตกต่างกัน จะมีการห้ามเลือดก่อนเสร็จแล้วก็จะเย็บปิด อย่างกรณีหลายซี่ก็จะกัดก๊อซซ้ำและคอยดูตามอาการ 24 ชั่วโมง หากไม่มีเลือดออกก็จบ หลังจากนั้นก็รอนัดวันตัดไหม และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ส่วนการทำฟันเทียมแล้วแต่กรณี ส่วนใหญ่ถ้าแข็งแรงเป็นปกติ มักจะทำฟันเทียมเพื่อให้คนไข้มีฟันเคี้ยวอาหาร หากไม่มีฟันเคี้ยวอาหารร่างกายก็จะอ่อนแอมาก

ทันตแพทยสภาออกแถลงการณ์

ด้าน ทันตแพทยสภาและราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตภายหลังเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวและถอนฟัน ว่า ทันตแพทยสภาได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการเข้ารักษาโรคประจำตัวและการถอนฟันจำนวน 12 ซี่ ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทันตแพทยสภาขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ทันตแพทยสภาให้คุณค่ากับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ดูแลทันตแพทย์ เพื่อให้ทันตแพทย์ดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทันตแพทยสภาจึงมุ่งติดตามประเด็นนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบว่าบริการทันตกรรมที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับหลักวิชาการและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพหรือไม่ ขณะนี้ทันตแพทยสภากำลังทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ โรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

 

ในเบื้องต้น ทันตแพทย์จำเป็นต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตที่เป็นไปได้ว่ามีแหล่งของเชื้อมาจากฟันผุและฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบจำนวนหลายซี่ ดังนั้น ทันตแพทย์จึงได้ถอนฟันที่มีปัญหาเพื่อกำจัดแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคออก อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น ทางทันตแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้ทุกท่านทราบต่อไป และหากพบการประกอบวิชาชีพที่ขัดต่อมาตรฐาน ทันตแพทยสภาจะเร่งดำเนินการอย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี ในระหว่างกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ทันตแพทยสภาใคร่ขอให้สาธารณชนเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้เกี่ยวข้อง และเคารพหลักการข้อมูลที่ครบถ้วน สอดคล้องกับหลักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่ถูกต้องอย่างรอบด้าน ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียล  ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงได้เตรียมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ตอบต่อข้อสงสัยของประชาชนที่ถามในโซเชียลมีเดีย ดังปรากฏในเอกสารแนบ

 

ทันตแพทยสภาจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเเละแถลงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งจะกำกับเเละดูเเลจริยธรรมกับทันตแพทย์เพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพเเละเป็นที่พึ่งของสังคม