ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกรในร้านยา นวัตกรรมบริการสุขภาพยุคใหม่ในระบบบัตรทอง เพิ่มความสะดวกใช้สิทธิบัตรทอง สปสช.เผยกว่า 7 เดือน ได้รับการตอบรับ มีผู้เข้ารับบริการแล้ว 1.4 แสนคน หรือเป็นจำนวนรับบริการ 2.39 แสนครั้ง จากร้านยา 1,026 แห่งทั่วประเทศ เผย เป็นอาการไข้ ไอ เจ็บคอมากที่สุด 9.9 หมื่นคน รองลงมาเป็น ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ, อาการผิวหนัง, ปวดท้อง และผิดปกติที่เกิดกับตา   

วันที่ 10 มิถุนายน 2566  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากบริการดูแลอาการการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ในร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการพร้อมให้คำปรึกษาการใช้ยาโดยเภสัชกร (ร้านยาคุณภาพของฉัน) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” โดยความร่วมมือ สปสช. และ สภาเภสัชกรรม ซึ่งได้เริ่มระบบบริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยร้านยาที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับ สปสช.นั้น เป็นเครือข่ายของหน่วยบริการประจำที่มีแพทย์ร่วมดูแล ในการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ จะต้องมีการติดตามผู้ป่วย ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระของแพทย์ลงด้วย รวมถึงการแยกผู้ป่วยเพื่อส่งต่อให้แพทย์ในกรณีที่ติดตามการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ จากการให้บริการในช่วงกว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีประชาชนสิทธิบัตรทองที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เข้ารับบริการที่ร้านยาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 มีผู้รับบริการแล้วจำนวน 142,091 คน เป็นการรับบริการจำนวน 239,519 ครั้ง ในร้านยาทั่วประเทศจำนวน 1,026 แห่ง 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการรับการรักษาเมื่อแยกข้อมูลตามกลุ่มโรคและอาการ พบว่า เป็นการรับบริการด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มากที่สุด 99,788 ครั้ง รองลงมาเป็น ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ 55,689 ครั้ง, อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 31,468 ครั้ง, ปวดท้อง 22,973 ครั้ง, ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา 14,305 ครั้ง ปวดหัว 11,639 ครั้ง, ท้องเสีย 10,014 ครั้ง, บาดแผล 9,698 ครั้ง, เวียนหัว 8,847 ครั้ง และปวดฟัน 6,817 ครั้ง
 
สำหรับร้านยาที่ให้บริการมากที่สุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ยาดีเภสัช อ.เมือง จ.สระบุรี ให้บริการผู้ป่วยจำนวน 2,646 คน รองลงมา เภสัชกรพรประเสริฐ อ.เมือง จ.กระบี่ จำนวน 2,224 คน เภสัชปุ้ย อ.นาแก จ.นครพนม จำนวน 1,903 คน เทิดเกียรติเภสัช อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา จำนวน 1,845 คน ศูนย์ยาทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 1,829 คน เภสัชกรสุพรรณ2 เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ จำนวน 1,708 คน ร้านคลังยา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร จำนวน 1,582 คน ร้านยาบ้านอิ๋ว อ.เมือง จ.นนทบุรี  จำนวน 1,464 คน และชนิดาฟาร์ม่า อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ จำนวน 1,357 คน และ ศรินทร์ เภสัช อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จำนวน 1,298 คน

 
“บริการดูแลอาการการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือ common illnesses นี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ในระบบบัตรทอง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีสิทธิ กรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อยรับการรักษาแลดูแลโดยเภสัชกรที่ร้านยา ไม่ต้องไปใช้สิทธิรับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งที่มาของบริการนี้เนื่องจากมาผลการสำรวจพฤติกรรมการรับบริการสุขภาพที่พบว่า กรณีที่ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจะซื้อยาจากร้านยามากินเอง ดังนั้น สปสช.จึงได้ร่วมมือกับ สภาเภสัชกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิบัตรทองในการรับบริการได้ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกบริการสุขภาพในระบบบัตรทอง ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนด้วยดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า บริการ common illnesses โดยร้านยา ที่ สปสช.ดำเนินการนี้ ขอย้ำว่า เป็นบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการ นอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนดด้วย นอกจากนี้ยังต้องเข้ารับการอบรมเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น วิธีซักถามอาการ วิธีการดูแลติดตาม และวิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งทุกร้านยาที่เข้าร่วมต้องผ่านการสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรรับรองในการให้บริการดูแลโรคทั่วไป

บริการ common illnesses โดยร้านยา ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าติดตามอาการและผลการดูแล  
  
ทั้งนี้วิธีการเข้าบริการ common illnesses ที่ร้านยา คือ 
1. คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่แนะนำร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อเข้ารับบริการ
2. ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 

หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา (นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดพร้อมกับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง) เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป