ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานและคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพ ร่วมกับ สปสช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ นวัตกรรม "UC New normal" ในพื้นที่จ.ชลบุรี  พร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินการให้บริการปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ชี้เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนมุ่งเน้นการบริการอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมลดความแออัดในโรงพยาบาล

วันที่ 14 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ทพ.สุธี สุขสุเดช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข และ รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ นพ. สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน และที่ปรึกษาอนุกรรมการกำกับคุณภาพ พร้อมด้วยอนุกรรมการของทั้ง 2 คณะ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เดินทางลงพื้นที่ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. 2566 เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ กำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาปัญหาของความแออัดในโรงพยาบาล เหตุเนื่องจากประชาชนเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลรัฐเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดนโยบายลดความแออัดและเกิดนวัตกรรมบริการต่างๆประกอบกับช่วงโควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีบริการใหม่ๆเกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็น บริการทางไกล(telemedicine) ,บริการรับยาที่ร้านยา ,บริการคลินิกกายภาพบำบัดดูแลผู้ป่วยในชุมชน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้และลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย

ดังนั้น การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด เพราะการตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่นั้นจะทำให้ได้รับทราบปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานของหน่วยบริการ เสริมพลังร่วมขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการ ได้รับทราบแนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียน และนำความเห็นและข้อเสนอ ต่างๆไปขับเคลื่อนคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ จะสามารถขยายไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่นั้น มองว่าถ้าทำได้ความแออัดในโรงพยาบาลจะลดลงหรือประชาชนอาจจะได้บริการที่ดีขึ้นด้วย

เลขาธิการสปสช. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อร่วมพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการ เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข การให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ เป็นไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน  

 

กำกับติดตามการดำเนินของนวัตกรรมบริการ (UC New normal)

กำกับติดตามการดำเนินของนวัตกรรมบริการ (UC New normal) และการดำเนินงานของหน่วยบริการตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 อาทิ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ (Independent Living: IL) คลินิกเทคนิคการแพทย์ด้าน HIV คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือแม้แต่การจัดบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีนโดยโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งตัวแทนองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละหัวข้อจะได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ กล่าวว่า  วัตถุประสงค์ที่สร้างสิทธิประโยชน์ดังกล่าว คือ 1. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้นสะดวกและอยู่ในพื้นที่จริง 2. ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ดังนั้นต้องมาดูว่าบริการที่จัดขึ้นตรงตามวัตถุประสงค์นี้หรือไม่ ซึ่งเราลงพื้นที่และได้เห็นว่าบริการที่เกิดขึ้นเป็นบริการเดิมที่แต่ละแห่งมีอยู่แล้วเพียงแต่เรานำมาโยงกันกับหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และประโยชน์ในการได้รับคืออย่างน้อยเรามั่นใจในคุณภาพของการบริการประชาชนเนื่องจากเป็นคนในพื้นที่เอง

ซึ่งในอดีตผู้ใช้บริการมีค่าใช่จ่ายแต่ปัจจุบันเมื่อเข้าระบบหลักประกันสุขภาพจะไม่มีค่าใช้จ่ายและสถานะผู้ใช้บริการจะเปลี่ยนไป เราคิดว่าจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ได้ทราบถึงบทบาทของคลินิกเอกชนในการให้บริการคนไข้ระบบบัตรทองให้มากขึ้น เพราะคนไข้อาจเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยมาต้องไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น ถึงแม้จะมีคลินิกเอกชนเกิดขึ้นมาผู้ป่วยก็ยังอาจคิดว่าจะได้เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม ซึ่งตามจริงแล้วนปัจจุบันเป็นการให้บริการเหมือนเดิมแต่ไม่มีค่าใช้จ่าย 

เมื่อถามว่าคนไข้ที่มารับบริการนั้นเป็นกลุ่มใหม่หรือกลุ่มเดิมนั้น จุดประสงค์สิ่งที่เราอยากฝันเห็นคือลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้ควบคู่กันไปกับโรงพยาบาล ซึ่งการบริการตรงนี้อยากเห็นพยาบาลหลายๆที่ร่วมกันสร้างคลินิคให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสามารถดูแลประชาชนได้มากขึ้น และในฐานะที่เราเป็นส่วนกลางจะพยายามทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสบายใจว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสามารถเบิกได้โดยไม่ต้องไปคิดเงินกับคนไข้ เพราะจากที่ลงพื้นที่เรามั่นใจอย่างน้อยการเปิดคลินิกจะได้มาตรฐานแน่นอน

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปแล้ว คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ (Independent Living: IL) ที่ อ.บ้านบึง และตรวจเยี่ยมคลินิกเทคนิคการแพทย์สวิง พัทยา และ CBO ที่ อ.บางละมุง 

จากนั้นเดินทางต่อไปยังแหลมบาลีฮายพัทยาใต้เพื่อเยี่ยมชมตู้แจกถุงยางอนามัยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ สปสช. พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัยให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org