ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนชรากินปาท่องโก๋ที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ทำให้ไตทำงานหนัก ความจริงแล้วเป็นอย่างไร 

จากข้อมูลในโลกออนไลน์ เรื่อง คนชรากินปาท่องโก๋ที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ทำให้ไตทำงานหนัก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ เพราะแอมโมเนียมไบคาร์บอเนตไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อผู้สูงอายุรับประทานเข้าไปจึงไม่ได้ทำให้ไตทำงานหนัก สำหรับส่วนประกอบของปาท่องโก๋ จะมีสารที่นิยมใช้ในการทำให้ขึ้นฟู 3 ชนิด ช่วยให้ปาท่องโก๋กรอบพองฟู โดยสารแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติในการทำให้เกิดการขึ้นฟูในขั้นตอนที่ต่างกัน ได้แก่

  • ผงฟู 
  • ยีสต์ 
  • แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (NH₄HCO₃) 

นอกจากนี้ หากทอดปาท่องโก๋แบบผ่านความร้อนนาน ๆ หรือผ่านการทอดในน้ำมันซ้ำ ยังอาจเสี่ยงจะเกิดสารก่อมะเร็งได้ ทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งผู้ทอดและผู้บริโภค แม้ว่าการรับประทานปาท่องโก๋จะไม่มีโซเดียม ไม่ให้ไตทำงานหนัก แต่ปาท่องโก๋ก็เป็นอาหารที่มีแคลอรีสูง ไม่ควรรับประทานปาท่องโก๋เป็นประจำ โดยพลังงานของปาท่องโก๋จะสูงราว 120 – 180 กิโลแคลอรี อีกทั้งพลังงานส่วนใหญ่ยังมาจากไขมัน เพราะในปาท่องโก๋มีไขมันอิ่มตัวสูง ส่งผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หากรับประทานบ่อย ๆ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ

ส่วนการที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียต่อไต และความดันโลหิตสูง ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่าง ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น แต่ในปาท่องโก๋ไม่ได้ใส่เกลือหรือผงฟูมากขนาดนั้น หากไม่กินมากจนเกินไปก็ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย

คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน 

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรฐานไว้ว่า ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า  เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม กรมอนามัย ระบุว่า ในปัจจุบัน คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกิน ผลจากการกินเค็มนาน ๆ อาจเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น

  • โรคหัวใจ 
  • โรคหลอดเลือดสมอง 
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไตเรื้อรัง

สำหรับ 5 ประเภทอาหาร ที่มีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่นอกจากเกลือ ได้แก่

  1. เครื่องปรุงรสทั้งที่มีรสเค็มและไม่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว กะปิ ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า ซุปก้อน ผงชูรส เครื่องปรุงรส เป็นต้น 
  2. อาหารแปรรูป ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักผลไม้ดอง  มักมีโซเดียมสูงจากเกลือ และโซเดียมแฝงจากวัตถุเจือปนอาหาร 
  3. ขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง แป้งสำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากผงฟูมีโซเดียมแฝงเป็นองค์ประกอบ 
  4. เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ มักมีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมเกลือปรุงรสชาติ และโซเดียมแฝง จากวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด 
  5. อาหารธรรมชาติทุกชนิด มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง ที่ยังไม่แปรรูป แต่อาหารธรรมชาติถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทั้งหมด และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้รับอีกด้วย

วิธีดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคไต

  • อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อดูปริมาณโซเดียมในอาหาร หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารหวาน มัน เค็ม
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด
  • ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชวนทำความรู้จักโรคไต พร้อมไขทุกความจริงของภัยเงียบด้านสุขภาพ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org