ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจบริษัท SK bioscience Co., Ltd. สาธารณรัฐเกาหลี ผลิตวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่จากเซลล์เพาะเลี้ยงในไทย คาดปีหน้าได้วัคซีนพร้อมบรรจุ ส่วนเฟส 2 จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมต่อยอดการผลิตวัคซีนอื่นๆ เช่น ป้องกันงูสวัด

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นายอัน แจ ยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SK Bioscience จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีนายจอนโจยอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน

ไทยร่วมเกาหลีเดินหน้าผลิตวัคซีน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ไทยร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถานบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เพื่อระดมความร่วมมือนานาชาติในการสรางอนาคตของวัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนนั้น ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรทางด้านวัคซีนต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที  บันทึกความเข้าใจนี้เปรียบเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนที่สำคัญต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

รง.วัคซีนองค์การเภสัชฯ พร้อมร่วมเกาหลีผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนของ อภ. ได้วิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กรณีที่มีการระบาดและตามฤดูกาล จนประสบความสำเร็จ และจากวิกฤตการณ์โควิด 19 อภ.ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจากไข่ไก่ และยังได้เริ่มพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม การลงนามในครั้งนี้เพื่อสร้างความร่วมมือกับ SK Bioscience ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to Fill Bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุเพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug Product) โดย อภ. เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุน ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และความชำนาญให้กับบุคลากรด้วย โดย SK Scienece จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ ให้ อภ. เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับสากล ศึกษาโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญในประเทศไทย

เกาหลีเผยสาเหตุร่วมมือกับไทย

นายอัน แจ ยอง กล่าวว่า สาเหตุที่เลือก อภ.มาร่วมมือด้วย เพราะไทยและ อภ.มีความพร้อม ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เชื่อว่าความร่วมมือจะเกิดได้ด้วยดี ซึ่งในอดีตเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยมาหลายช่องทาง และวัคซีนเป็นหนึ่งในรายการที่มีการร่วมมือกันก่อนหน้านี้มานาน การร่วมมือในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสถานที่การผลิตของ อภ.ก็ถือเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค

อภ.พร้อมร่วมมือเกาหลีต่อยอดผลิตวัคซีนอื่นๆ เช่น ป้องกันงูสวัด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนานแค่ไหนและจะได้เริ่มใช้เมื่อไร  พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า หลังจากลงนามจะมีการตกลงกันเรื่องความร่วมมือในเชิงของราคา โดยตกลงกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ตัววัคซีนในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุหรือแบบแบ่งบรรจุ ซึ่งเป็นลักษณะของกลางน้ำ จากนั้นจะเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย คาดว่าไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ วัคซีนที่อยู่ในไปป์ไลน์ของ อภ. มีทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด GPO Vac การลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวใหญ่ เพราะเกาหลีใต้มีเรื่องการผลิตวัคซีนอื่นๆ อีกหลายตัว ที่มองไว้ว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัน เช่น วัคซีนป้องกันงูสวัด

เผยวัคซีนที่ไทยผลิตได้เอง

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า  วัคซีนที่ประเทศไทยผลิตได้เองในปัจจุบัน ได้แก่ 1.วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค ผลิตโดยสถานเสาวภา 2.วัคซีนไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย และ3.วัคซีน JD ป้องกันไข้สมองอักเสบ เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแบ่งบรรจุ โดยบริษัท โกลบอล ไบโอเทค โปรดักส์ จำกัดเป็นบริษัทร่วมทุนของอภ. นอกจากนี้  มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของอภ.คาดว่าน่าจะได้ขึ้นทะเบียนในปี 2566 และกำลังจะร่วมมือกับบริษัท SK ฯเช่นกันในส่วนของวัคซีนงูสวัด 

    “วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเป็นเทคโนโลยีใหม่ หวังว่าจากที่ได้เริ่มทำความร่วมมือแล้วจะได้ต่อยอดสำหรับการวิจัยและผลิตวัคซีนเองในตัวอื่นๆจากเซลล์ต่อไป ซึ่งสำคัญมากไว้สำหรับรับมือการระบาดใหญ่ เพราะทำให้เร็วกว่าในการผลิต”นพ.นครกล่าว 

      

นพ.นคร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนฯได้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศไทยไปแล้วอย่างมาก อย่างเช่น  สร้างศักยภาพของการวิจัยและพัฒนาของการผลิตวัคซีนในแพลตฟอร์มที่สำคัญ โดยวัคซีนmRNA สนับสนุนให้ทุนทีมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับไบโอเนท เอเชีย ,วัคซีนไวรัล แว็กเตอร์  สนับสนุนสวทช. ไบโอเทค มจธ. สยามไบโอไซน์เอนซ์,วัคซีนเชื้อตาย สนับสนุนอภ.และวัคซีนซับยูนิตโปรตีน สนับสนุนบริษัทไบยา นอกจากนี้ มีทีมสัตว์ทดลองได้มาตรฐาน มีทีมวิจัยในคน ทั้งหมดคือทีมประเทศที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ตอนนี้ไปข้างหน้า ในการรักษาและเพิ่มพูนศักยภาพ อีกทั้ง พยายามหาความร่วมมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมพัฒนา ทำให้ไทยดำเนินการได้เร็วขึ้น 

        

“การสนับสนุนหลากหลายแพลตฟอร์มในการผลิตวัคซีน ทำให้โอกาสในผลิตวัคซีนได้เองในการรับมือโรคต่างๆมีมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าโรคใหม่ที่จะมีการระบาดคืออะไร และไม่รู้ว่าแพลตฟอร์มไหนจะใช้ได้ดี  ซึ่งโรคโควิด-19อาจจะบอกเราได้แบบหนึ่ง แต่ถ้าเจอโรคใหม่อาจเป็นอีกแบบก็ได้ เหมือนตอนที่ไม่มีโควิด-19 คนก็ยังไม่รู้จักวัคซีน mRNA วัคซีนไวรัลแว็กเตอร์ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมต่อไปข้างหน้า และเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน หวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง”นพ.นครกล่าว