ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.เริ่มโอนจ่ายเงินค่าชดเชยกองทุนแพทย์ฉุกเฉินแล้ว เบื้องต้นราว 32 ล้าน เป็นรอบจ่ายเดือนเม.ย.-พ.ค.66  ส่วนค้างจ่ายเดือน ต.ค.65 ถึง ก.พ.66 จะจ่ายเดือน ส.ค.นี้ พร้อมเผยสาเหตุจ่ายช้า

 

โอนจ่ายค่าชดเชยกองทุนแพทย์ฉุกเฉิน งวดเดือนเม.ย.-พ.ค.66

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ว่าที่ร.ต.การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โดยปกติ สพฉ. จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน เดือนละ 2 รอบ ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าปฏิบัติการตามหลังเดือนก่อนหน้า โดยจากกรณีที่มีการค้างจ่าย 8 เดือนตามที่เป็นข่าวนั้น เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) สพฉ. ได้โอนเงินค่าชดเชยจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ให้แก่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น  32,586,290 บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยในรอบการจ่ายครั้งที่ 1 และ 2 ของเดือน เม.ย.2566 และครั้งที่ 1 ของเดือน พ.ค.2566 รวม 3 งวด ซึ่งเป็นการค่าชดเชยการปฏิบัติของเดือน มี.ค. - เม.ย. 2566

อย่างไรก็ตาม เงินค่าชดเชยที่เป็นปัญหาอยู่ เกิดจากการเปลี่ยนระบบการคีย์ข้อมูลที่เดิมใช้มานานกว่า 15 ปี ฐานข้อมูลเยอะมาก ทำให้ระบบล่มไป จากนั้น สพฉ. ร่วมกับ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT พัฒนาระบบการเบิกจ่ายใหม่ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อช่วงเดือน มี.ค.2566 ฉะนั้น เงินค่าชดเชย ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือ ในรอบการจ่ายตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 - ก.พ.2566 ซึ่งยังอยู่ในปีงบประมาณเดียวกัน แต่ด้วยมีการเปลี่ยนระบบใหม่จึงทำให้เกิดรอยต่อในการเบิกจ่าย เพราะข้อมูลยังอยู่ในฐานข้อมูลเดิม ที่เป็นระบบออฟไลน์หรือกระดาษ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลส่วนนี้เข้ามาในระบบใหม่ จึงต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ข้อมูลซ้ำซ้อน

ส่วนค้างจ่ายเดือนต.ค.65-ก.พ.66 โอนได้ส.ค.-ก.ย.นี้

“ การค้างจ่ายช่วงเดือน ต.ค.65 - ก.พ.66 คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในเดือน ส.ค.66 คือเดือนหน้า ฉะนั้น เดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ จะมีการจ่ายเงิน 2 ส่วน คือเงินของเคสปัจจุบันและเงินที่ค้างเมื่อปลายปีถึงต้นปี โดยเรายืนยันว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2566 คือเดือนก.ย. นี้ เราจะสามารถจ่ายเงินค่าชดเชยปัจจุบันและที่ค้างอยู่ยอดรวมประมาณ 969 ล้านบาทได้หมด” ว่าที่ร.ต.การันต์ กล่าว

เมื่อถามถึงบรรยากาศภายหลังจากที่วานนี้มีการโอนค่าชดเชยไป 32.5 ล้านบาท ว่าที่ร.ต.การันต์ กล่าวว่า เป็นไปในทางที่ดี เพราะจากที่ สพฉ. ชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊ก ทำให้ทางพี่น้องกู้ชีพกู้ภัย เห็นความชัดเจน เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งคำถามว่า มีงบประมาณหรือไม่ หรือเอาเงินไปใช้อย่างอื่น ซึ่งความจริงแล้วเงินยังอยู่ เพียงแต่จะต้องมีการทำให้ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งนี้ สพฉ. ขอขอบคุณ หน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ ที่คงยืนหยัดอย่างมุ่งมั่น ปฎิบัติหน้าที่และอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน แม้ในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมา

เผยระบบเบิกจ่ายใหม่ปลอดภัย

เมื่อถามว่าระบบการเบิกจ่ายใหม่มีความปลอดภัย กว่าระบบเดิมหรือไม่  ว่าที่ร.ต.การันต์ กล่าวว่า ทาง NT ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสากิจเช่นเดียวกับ  สพฉ. ดังนั้นจะมีความปลอดภัยของระบบ นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในการเชื่อมโยงสถิติข้อมูลต่างๆ เช่น สถิติการบาดเจ็บของผู้ป่วยในการออกปฏิบัติการ หน่วยงานภาครัฐอื่นก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สพฉ. ชี้แจงปัญหาการจ่ายค่าชดเชยล่าช้า ยืนยันเริ่มจ่ายได้กรกฎาคม)