ผมร่วงหลังติดโควิด
ภาวะผมร่วงหลังติดโควิด เรียกว่า โรคอะไร หายได้เองไหม สาเหตุเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน จริงหรือไม่
กรณีข่าวปลอมระบุว่า ติดโควิดเมื่อนานมาแล้ว แต่ผมยังร่วง เนื่องจากหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันนั้น สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อ Corona Virus Disease 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป (Long-COVID-19) ส่วนใหญ่เกิดจากโรคผมผลัด (Telogen effluvium) เนื่องจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19
ร่างกายเกิดความเครียดและมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่รากผม ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผม ทำให้มีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากกว่าปกติ
ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
ข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการผมร่วงฉับพลัน พบได้ในผู้ป่วยหรือผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 30 โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง ที่พบอาการดังกล่าวได้มากกว่าเพศชาย สาเหตุจากเชื้อโควิดทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ โดยจะเกิดสารไซโตไคน์ (Cytokines) ภายในร่างกายสูง ส่งผลให้ระบบบางส่วนในร่างกายถูกทำลาย เส้นผมจึงเกิดอาการช็อคและร่วง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคผมผลัด ได้แก่
- ความเครียดหรือความวิตกกังวล
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาอาการของโรคโควิด-19 เช่น ยาละลายลิ่มเลือด หรือแพ้ยาปฏิชีวนะ
- ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารได้น้อย และน้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดผมร่วง
อาการผมร่วงหลังติดโควิด
- ผมร่วงมากหลังจากหายป่วยแล้ว 1-3 เดือน
- ผมร่วงทั่วศีรษะ โดยไม่มีรอยแผลเป็น
- มีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในบางรายอาจสูงถึง 700-1000 เส้นต่อวัน
ภาวะ Long COVID คืออะไร
ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 ระบุถึงภาวะลองโควิด (Long COVID) ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ส่วนใหญ่เริ่มเมื่อผู้ป่วยฟื้นตัว ระยะเวลาของภาวะลองโควิดเกิดได้ตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการที่พบบ่อยมีถึง 6 ระบบ
- ระบบประสาท ได้แก่ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
- ระบบทางจิตใจ ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
- ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
- ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้
- ระบบทั่วไป ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
อาการลองโควิด-19 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และหากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย
- ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้
- บริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย
- กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ และกระเทียม เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ ช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง
ส่วนวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- วิตามินซี พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น ควรกินแบบสด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น
- วิตามินเอ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง และมะละกอสุก
- วิตามินดี ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด และไข่แดง
- วิตามินอี ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน และอะโวคาโด
- แร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม และข้าวกล้อง
ข้อควรระวังของภาวะ Long COVID กรณีที่เกิดอาการตามระบบต่าง ๆ และอาการผมร่วงหลังติดโควิด หรือโรคผมผลัด (Telogen effluvium) หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ภาวะ Long Covid เกิดอาการขี้หลงขี้ลืมจริงหรือ อาการที่พบบ่อย 10 อันดับ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 721 views