ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถกผลลัพธ์ 2 ปีนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกมากขึ้น แต่ผู้ป่วยกลับไปกระจุกตัวตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ แนะ สปสช. เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผู้ป่วย การได้เข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว สำคัญกว่าการเลือกไปโรงพยาบาลที่ดีที่สุด

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการในหัวข้อ “2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า” เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในงานนี้

นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ Cancer Anywhere ความหมายก็คืออย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากการส่งต่อ ยิ่งคนที่ไม่มีรถส่วนตัว เวลามาโรงพยาบาลต้องเหมารถมา แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท ซึ่งหลังจากมีโครงการนี้ก็เปลี่ยนจากระบบใบส่งตัวมาเป็นระบบ cancer nurse coordinator คือให้โรงพยาบาลติดต่อระหว่างกันเอง ไม่เป็นภาระของคนไข้หรือญาติอีกต่อไป 

นพ.ธีระชัย กล่าวอีกว่า นโยบายนี้ยังส่งผลดีต่อสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลในภูมิภาค เพราะเดิมทีถ้าส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลต้นทางจะถูกตัดเงินจากงบรวมสำหรับการรักษา แต่ปัจจุบันหน่วยบริการไหนรักษา หน่วยบริการนั้นก็เรียกเก็บเงินเอง ไม่ต้องมาเรียกเก็บจากงบค่ารักษารวมของทั้งเขตอีก

อย่างไรก็ดี ระบบ cancer nurse coordinator ยังมีจุดอ่อนคือพยาบาลที่เป็นผู้ประสานงานมีการเปลี่ยนตัวไปมา จึงอยากฝาก สปสช. ให้ดูระบบนี้ให้ดี ถ้าระบบนี้พัง คนไข้ก็ต้องกลับมาเอาใบส่งตัวอยู่ดี รวมทั้งประเด็นเรื่องการลงทะเบียน แม้ในระบบ e-Claim จะมีข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ระบบไม่ควรเริ่มที่ e-Claim แต่เริ่มที่การลงทะเบียน เพราะเมื่อโรงพยาบาลเบิกเงินจาก e-Claim แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียน ทำให้เห็นแต่ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่เห็นว่าสถานการณ์ภาพรวมของผู้ป่วยทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร

“อีกประเด็นคือเรื่องการเบิกจ่าย คนไข้ต้องได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดก่อน แต่บางครั้งแพทย์แค่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แต่เมื่อลงทะเบียน ฝ่ายทะเบียนอาจดึงเข้าไปในระบบ Cancer Anywhere ทั้งที่อาจไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งก็ได้ ทำให้เกิดการเบิกเงินเกินกว่าที่ควรจะเป็น และข้อเท็จจริงที่พบอีกอย่างคือบางโรงพยาบาลไม่เคยเบิกเงินจากระบบ Cancer Anywhere เลย เพราะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายไม่เข้าใจ ดังนั้นถ้าพบว่าโรงพยาบาลไหนที่มีตัวเลขต่ำ สปสช.เขต ต้องเข้าไปช่วยดู”นพ.ธีระชัย กล่าว

ด้าน นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ชัดเจนของนโยบายนี้คือที่ผ่านมาเวลามีคนไข้จากต่างภูมิลำเนามารักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วต้องแนะนำให้คนไข้กลับไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทางก่อน ทำให้การเข้าถึงการรักษาช้า แต่เมื่อมีนโยบายนี้ก็ทำให้สามารถรักษาต่อเนื่องได้เลยโดยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว อันนี้เป็นประโยชน์ที่เห็นชัดเจน อย่างไรก็ดี ในมุมของระบบ การเปลี่ยนจ่ายมาเป็น central reimbursement แบบ fee schedule แต่นอกเหนือจากรายการ fee schedule สปสช. จะไม่จ่าย ซึ่งอยากสะท้อนว่ามีหลายรายการที่โรงพยาบาลยังติดขัดการในการเบิกจ่ายอยู่

 

วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้คืออยากลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการ

ขณะที่ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้แทนสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเชิงวิชาการแล้วนโยบายนี้ไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายพอใจที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้คืออยากลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการที่คิวยาว ไปสู่หน่วยบริการที่คิวสั้น และช่วยผู้ป่วยที่รักษาข้ามเขตไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งจะมีโปรแกรมที่ทำงานร่วมกัน 3 ตัว คือ โปรแกรม Thai Cancer Base โปรแกรม The One และโปรแกรม Cancer Anywhere สำหรับประชาชน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหน่วยบริการใช้ยังใช้ประโยชน์จากโปรแกรมไม่ครบถ้วนตามแผนที่วางไว้ ซึ่งถ้าโรงพยาบาลใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้คล่อง ก็จะช่วยบอกผู้ป่วยได้ว่าคิวที่โรงพยาบาลไหนสั้นกว่า เช่น ศิริราชอาจบอกว่าคิวที่ชลบุรีสั้นกว่า ถ้าศิริราชรอ 6 เดือน ที่ชลบุรีรอ 2 เดือน ผู้ป่วยจะเลือกไปที่ชลบุรีหรือ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการช่วยเหลือประชาชนได้จริง

“ในส่วนของ สมาคมฯ เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่อยากให้การดูแลประชาชนสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ตั้งต้นไว้ว่าอยากลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ”พญ.ปฐมพร กล่าว

ด้าน ผศ.พญ.จารุวรรณ เอกวัลลภ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ที่คนไข้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่ต้องวิ่งกลับไปกลับมา แต่ยังมีจุดหลายๆจุดที่น่าจะต้องพัฒนา เช่น โรงเรียนแพทย์ใน กทม. การมีนโยบายนี้ทำให้คนไข้เข้ามาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น แต่หลายครั้งผู้ป่วยมารับการรักษาแล้วและพบว่าในภูมิลำเนาที่คนไข้อาศัยอยู่ก็มีศูนย์มะเร็ง มีหน่วยรังสีรักษาหรือแพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาสำหรับการรักษาด้วยยาต่อเนื่อง แต่พอแนะนำให้กลับไปรับบริการยาได้ที่เขตนั้นๆ ก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งไม่ยอมกลับ ดังนั้น สปสช. คงต้องมีกลไกหรือประชาสัมพันธ์ให้คนไข้เข้าใจมากขึ้น 

ประเด็นต่อมา คือเรื่องการเบิกจ่าย ถ้าจะเบิกจ่ายจากโครงการ Cancer Anywhere ต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่หลายครั้งคนไข้อาจมีปัญหาสุขภาพอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษามะเร็ง เช่น คนไข้เบาหวานเมื่อให้ยารักษามะเร็งแล้วเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง แต่ไม่มีความชัดเจนว่าเบิกจาก Cancer Anywhere ได้หรือไม่ หรือเมื่อคนไข้ถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาแต่มีโรคอื่นร่วมด้วย โรงพยาบาลก็ต้องดูแลให้โดยที่ไม่รู้ว่าจะเบิกค่าใช้จ่ายได้หรือไม่

ขณะที่ พล.ท.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ประธานชมรมศัลยแพทย์มะเร็งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Cancer Anywhere ดีมากในแง่ของการลดขั้นตอนทางธุรการไปได้มาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ศัลยแพทย์มะเร็งในไทยมีแค่ประมาณ 100 กว่าคน และศักยภาพการผลิตมีแค่ 8 คน/ปี ดังนั้นกำลังหลักที่ดูแลผู้ป่วยในปัจจุบันก็คือแพทย์ผ่าตัดทั่วไป ซึ่งก็มีศักยภาพระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือการรอผลการตรวจวินิจฉัย ซึ่งในประเทศไทยมีระยะเวลารอผลประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยรวมแล้ว ถ้าใช้ศักยภาพของแพทย์ผ่าตัดทั่วไป บวกกับกำหนดระยะเวลาวินิจฉัยโรคให้ได้ตามแผน ก็ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของคนไข้ได้ระดับหนึ่งแล้ว และถ้าพยายามสร้างการรับรู้ให้คนไข้มารับการตรวจเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรกๆ ก็จะเพิ่มอัตราการรักษาหายมากขึ้น

ผู้ป่วยมักไปโรงเรียนแพทย์ ทำให้คนไข้ไปกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่

อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากหาสิ่งที่ดีที่สุดและมักไปโรงเรียนแพทย์ ทำให้คนไข้ไปกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำให้คิวการรักษานานขึ้นและกระทบไปถึงผลการรักษา อัตราการรอดชีวิตก็ลดลง ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยตระหนักว่า Timing เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการไปหาโรงพยาบาลที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง 

ด้าน นพ.เพชร อลิสานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภาการชาดไทย ผู้แทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายนี้มีข้อดีคือคนไข้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น ส่วนปัญหาที่เจอ ก็คือการกระจายตัวของคนไข้ที่มากระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และระบบ cancer nurse coordinator ก็ทำให้ภาระงานในส่วนของพยาบาลเพิ่มขึ้น และหวังว่าในอนาคต สปสช. จะเข้ามาช่วยในส่วนของการจัดการข้อมูลระบบสาธารณสุขเพื่อให้จัดการข้อมูลง่ายและเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

“ประเด็นต่อมา คนไข้มะเร็งไม่ได้ป่วยเฉพาะแค่มะเร็ง ในโรงพยาบาลที่มีการรักษาครบถ้วนจึงเป็นเป้าหมายที่คนไข้ต้องการมา สปสช. ต้องเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดว่าเขาจะได้รับการดูแลดีที่สุด และให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการว่าเมื่อให้บริการแล้ว จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกลับมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าทำ 2 ขานี้ได้ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายจะไม่มีปัญหา”นพ.เพชร กล่าว

ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และชีวาภิบาล (เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม) กล่าวว่า ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการการรักษา จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเพียงพอแล้ว เข้าใจสัจธรรม และเลือกที่จะรับการดูแลระยะสุดท้ายเพื่อเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน และผู้ป่วยแบบนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆปี รวมทั้งมีบางส่วนที่เข้ารับการรักษาแล้วทนความเจ็บปวดไม่ไหว ก็ร้องขอบริการ palliative care ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีโอกาสให้คำปรึกษาแนะนำกับครอบครัวตั้งแต่ทราบผลการวินิจฉัย นำเสนอคุณภาพชีวิตและการอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ เชื่อว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เลือกสิ่งนี้ทันที และจะช่วยจำนวนคนไข้ในระบบลงได้

“ในจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต เชื่อว่ามีหลายคนที่อยากเลือก palliative care เพียงแต่ไม่ได้รับการนำเสนอตั้งแต่แรก จึงมาพบเอาตอนสุดท้ายหรือไม่เคยพบเลย เพราะจากผลสำรวจผู้ป่วยมะเร็งตามวอร์ดต่างๆ มีเพียง 20% เท่านั้นที่ได้รับบริการ palliative care”ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าว