ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ทุ่งใหญ่ ต่อยอดเทคโนโลยี "ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ" จาก Digital Triage เป็น Algorithm Triage ที่แรก! ช่วยประเมินเคสฉุกเฉิน วินิจฉัยโรคแม่นยำ-รวดเร็วขึ้น ลดข้อร้องเรียนรอคอยนาน ติดตามสถานะการรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้วยภาระงานของห้องฉุกเฉินในแต่ละวันที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก การจำแนกระดับความฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว โรงพยาบาลทุ่งใหญ่ จึงพัฒนาระบบ ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ยกระดับการเข้าถึงการรักษา ช่วยวินิจฉัยโรคแม่นยำ และทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นพ.ปกป้อง เศวตชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ โรงพยาบาลทุ่งใหญ่ ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ 4.0 ของโรงพยาบาลถ้ำพรรณรา ที่เคยพัฒนาระบบไว้สมัยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลถ้ำพรรณรา ระบบดังกล่าวช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทันท่วงที ลดการร้องเรียนเรื่องการรอคอย ป้องกันการเกิดประทุษร้ายกันในห้องฉุกเฉิน ช่วยให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เกิดความปลอดภัย

"รพ.ทุ่งใหญ่ ต่อยอดเทคโนโลยี "ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ" จาก Digital Triage เป็น Algorithm Triage ที่แรก"

นพ.ปกป้อง เสริมว่า จากระบบเดิมที่ใช้ Digital Triage ต่อยอดเป็น Algorithm Triage ด้วยระบบนี้ ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยจะปรากฏขึ้นผ่านการประมวลผลจาก Algorithm ซึ่งมีความแม่นยำ โดยจำแนกระดับความฉุกเฉิน ได้แก่

  • สีแดง : ฉุกเฉินขั้นสูง ต้องช่วยเหลือทันที มีโอกาสเสียชีวิตสูง
  • สีส้ม : ฉุกเฉินรองลงมา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
  • สีเหลือง : ไม่ได้ฉุกเฉินมาก สามารถรอได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น อาการปวดท้อง และไส้ติ่งอักเสบ
  • สีเขียว : มีอาการเล็กน้อย เช่น แผลถลอก
  • สีขาว : ไม่ฉุกเฉิน ส่งตรวจ OPD

"รพ.ทุ่งใหญ่ ต่อยอดเทคโนโลยี "ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ" จาก Digital Triage เป็น Algorithm Triage ที่แรก"

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินจะได้รับการตรวจร่างกายและประเมินอาการทั้งหมด โดยใส่ข้อมูลลงไปเพื่อให้ Algorithm จัดระดับความฉุกเฉินโดยวัดจากค่าต่าง ๆ ดังนี้

  • วัดสัญญาณชีพ
  • วัดชีพจร การหายใจ
  • วัดระดับความรู้สึกตัว (GCS)
  • วัดระดับน้ำตาลในเลือด
  • วัดระดับความดัน
  • วัดระดับความเจ็บปวด
  • วัดค่าออกซิเจนในเลือด
  • ประเมินอาการต่าง ๆ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก ซึม อ่อนแรง พูดไม่ชัด เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย มีอาการปวด

"รพ.ทุ่งใหญ่ ต่อยอดเทคโนโลยี "ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ" จาก Digital Triage เป็น Algorithm Triage ที่แรก"

"จากหน้าจอมอนิเตอร์หน้าห้องฉุกเฉิน ญาติผู้ป่วยจะรับรู้ว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินในระดับใด สามารถติดตามสถานะการรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ทราบว่า ใช้ระยะเวลารอการรักษานานเท่าไหร่ ผู้ป่วยกำลังรักษาในขั้นตอนใด เช่น ผู้ป่วยกำลังทำ CT Scan หรือเอ็กซเรย์ปอดอยู่" นพ.ปกป้อง กล่าวและว่า ส่วนสายรัดข้อมือใช้ระบบ Patient Tag สแกนข้อมือผ่าน QR code สามารถตรวจสอบระดับความฉุกเฉิน หากผู้ป่วยที่เคยมีระดับสีเขียว เกิดอาการรุนแรงขึ้นเข้าขั้นฉุกเฉิน สัญญาณชีพเปลี่ยน พยาบาลสามารถสแกนข้อมือเพื่อเปลี่ยนสถานะได้ ระบบนี้ยังช่วยระบุตัวตนผู้ป่วย ตรวจสอบได้ว่าให้ยาตรงตามอาการป่วย ป้องกันการให้ยาผิดคน ตอบโจทย์ 2P Safety Goals 

นพ.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ใช้ระบบ Algorithm Triage มาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ระดับความพึงพอใจในการให้บริการเพิ่มมากขึ้นจาก 80% เป็น 95% ระบบดังกล่าวช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแม่นยำและทันท่วงที อุบัติการณ์ที่เกิดจากการวินิจฉัยผิดพลาดลดลง ช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำ รวดเร็ว อีกทั้งผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ระบบ Algorithm Triage ที่ต่อยอดจาก Digital Triage ไม่ได้ทำการจดสิทธิบัตร เพื่อให้นวัตกรรมนี้เป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลอื่นนำไปใช้ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชน สำหรับโรงพยาบาลที่สนใจสามารถติดต่อมาที่ฝ่ายไอทีของโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ เบอร์ติดต่อ 075-489-080 เว็บไซต์ www.thungyaihospital.org
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โรงพยาบาลถ้ำพรรณราเปิดตัวห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ 4.0 ยกระดับความทันสมัย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง