ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า ชี้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา แนวโน้มปัจจุบันคนให้ความสนใจลดลง เหตุเริ่มชาชินและส่วนหนึ่งราว 10 ล้านคน เลิกดื่มได้ถาวร เน้นรณรงค์รูปแบบใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์สร้างสังคมสุขปลอดเหล้า โดยริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ตั้งแต่ปี 2546 นับถึงวันนี้ร่วม 20 ปี โดยผลสำรวจการรณรงค์ ปี 2565 จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า มีผู้ที่งดตลอดครบพรรษา ร้อยละ 17.8 และผู้ที่งดบางเวลาและลดปริมาณการดื่ม ร้อยละ 19 รวมที่งดและลดการดื่ม ร้อยละ 36.8 รวมแล้วมีผู้ดื่มที่งดเหล้าเข้าพรรษา 9,383,490 คน สูงกว่าผลสำรวจปี 2564 มีผู้ที่งดและลดการดื่ม ร้อยละ 30.3 สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,543.56 บาทต่อคน ประมาณการว่าช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในช่วงเข้าพรรษารวมมูลค่า 5,025 ล้านบาท 

ปีนี้ งดเหล้าเข้าพรรษา ทุกเพศ ทุกวัย

ปีนี้ สสส. รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ปีนี้ งดเหล้าเข้าพรรษา ทุกเพศ ทุกวัย” เป็นการส่งสัญญาณสื่อสารว่างดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้มาถึงแล้ว ขอเชิญชวนทุกเพศ ทุกวัย มาใช้โอกาสช่วงเวลา 3 เดือน เปิดประตูสู่ฤดูกาลงดเหล้าเข้าพรรษา จนกระทั่งถึงสามารถ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดชีวิต

 

งดเหล้าเข้าพรรษา คนสนใจน้อยลง เริ่มแคมเปญใหม่

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ต้องยอมรับว่าแนวโน้มปัจจุบันคนเริ่มให้ความสนใจลดลง เนื่องจากเริ่มชาชินและส่วนหนึ่งราว 10 ล้านคน เลิกดื่มได้ถาวร ทั้งนี้ ช่วงที่เคยมีคนเข้าร่วมโครงการสูงสุดถึงร้อยละ 70-80 ของจำนวนคนไทยที่ดื่มแอลกอฮอล์ราว 17 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นมีผู้ที่งดตลอดครบพรรษาถึงร้อยละ 40 แต่ช่วงหลังก็จะเริ่มลดลงมา แนวโน้มปัจจุบันจึงไปอยู่ในกลุ่มผู้ที่ลดปริมาณการดื่มลงมากกว่า 

 

“เราก็ตั้งชื่อให้กับผู้ที่ต้องการจะงดเหล้า สำหรับคนที่งดได้ครบพรรษาเรียกว่า ‘คนหัวใจหิน’ แต่ถ้าคนที่งดต่อไปจนถึงเลิกถาวรได้ เราเรียกว่า ‘คนหัวใจเพชร’ การใช้วันเข้าพรรษาที่เป็นวัฒนธรรมสังคม เป็นตัวกระตุ้นให้งดเหล้า จะได้ผลมากกว่าการให้เขางดได้ด้วยตัวเอง รวมถึงช่วงเข้าพรรษาที่หลายๆ คนงดไป ก็ทำให้ขาดเพื่อนกินร่วมสนุกกัน ก็ทำให้คนบางส่วนดื่มน้อยลงไปด้วย” ภก.สงกรานต์ กล่าว

 

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า ประโยชน์อีกนัยหนึ่งของการงดเหล้าคือ การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ก็ได้เปิดเผยว่าอุบัติเหตุช่วงเข้าพรรษาลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญชัดเจน ส่วนเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับ ก็ยืนยันว่า ถ้างดดื่มแอลกอฮอล์ 3 เดือน กรณีคนที่ไม่มีภาวะตับแข็ง ตับจะฟื้นฟูได้แน่นอน แต่จริงๆ แอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะไปทำลายทุกระบบ โดยเฉพาะเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ทุกอวัยวะ ทาง สสส. ก็จะเริ่มรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วย 

น่าห่วง! ผู้หญิงเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากกว่าชาย

“สิ่งที่น่าห่วงคือผลสำรวจจากสำนักงานสถิติปีล่าสุดพบว่านักดื่มหน้าใหม่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดขึ้น อาจจะเพราะความคิดเรื่องเสรีนิยม ประกอบกับการตลาดธุรกิจแอลกอฮอล์ที่มุ่งเป้ามาที่ผู้หญิง เพราะมีช่วงว่างทางการตลาดเยอะในกลุ่มผู้หญิงเอเชียที่ยังดื่มน้อยอยู่ ทำให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ใหม่ๆ จะมีขวดสวย กลิ่นหอม รสชาติหวาน รวมถึงงานวิจัยก็สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลจากการดูซีรีย์ต่างประเทศ ที่นักแสดงดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านในทุกความรู้สึกของตัวละคร ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ ซึ่งอาจจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของต่างประเทศ แต่มีอิทธิผลต่อการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นได้” ภก.สงกรานต์ กล่าว

 

เมื่อถามว่าการใช้แอลกอฮฮล์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ จะส่งผลต่อการดื่มของคนในประเทศด้วยหรือไม่ ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีข้อมูลชัดเจน ตัวอย่างสมัยหนึ่งที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมเหล้าพื้นบ้าน มีหลายชุมชนได้ผลิตเหล้าพื้นบ้านออกมาจำหน่าย แต่มีชุมชนหนึ่งที่ผลิตไวน์แดงมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ล่าสุดที่ชุมชนดังกล่าวสรุปผลงาน 10 ปี กลับพบว่าคนในชุมชนมีกำไรจริง แต่เด็ก เยาวชนในชุมชนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น จึงมีการทบทวนกันว่ามีความคุ้มค่าในเรื่องนี้หรือไม่

“โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP เคยประเมินความสูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การรักษาพยาบาล อุบัติเหตุ ปีละไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านบาท ส่วนภาษีที่เก็บได้จากการจำหน่ายแอลกอฮอล์ก็คงไม่ถึงแสนหกหมื่นล้าน ดังนั้น ไม่มีความคุ้มค่าที่จะแลก” ภก.สงกรานต์ กล่าว