ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ผนึก สสส. สปสส. สภาการสาธารณสุขชุมชน ม.กรุงเทพธนบุรี  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการป้องกันและบำบัดรักษา สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” สสส. เผย รายงานพบนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ "เหนือ-อีสาน" เร่งสร้างความตระหนักรู้โทษน้ำเมา พร้อมค้นหาผู้ติดสุรา ให้บริการปรึกษาเลิกเหล้า ส่งบำบัด  

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 13.00 น. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดร.ไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย กรุงเทพธนบุรี นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ(สปสส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการ ป้องกันและบําบัดรักษา สําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.)” ให้แก่กลุ่มวิชาชีพนักสาธารณสุขชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่

นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการป้องกันและบำบัดรักษา สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” เพื่อพัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการบริการป้องกันและบำบัดรักษาสำหรับ รพ.สต. ให้แก่ วิชาชีพนักสาธารณสุขชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่

“ปัจจุบันระบบสุขภาพในพื้นที่ได้มีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารรพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุขไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกำกับของกระทรวงมหาดไทย โดยรพ.สต.เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน และบทบาทของวิชาชีพนักสาธารณสุขชุมชน สามารถให้บริการ ค้นหาคัดกรอง ให้คำแนะนำ/คำปรึกษาแบบสั้น ให้แก่ผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ดื่ม และสามารถส่งต่อผู้มีปัญหาจากการดื่มและอาการถอนพิษสุรา ไปยังหน่วยบริการในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ด้านนพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลปี 2565 พบการใช้แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคและการบาดเจ็บมากกว่า 200 กรณี โดยทั่วโลกมีคนเสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย ซึ่งคิดเป็น 5.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในปี  2564 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยเท่ากับร้อยละ 28 เกือบ 3 ใน 10 ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงนับเป็นงานสาธารณสุขที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนที่เป็นวิชาชีพที่ทำงานสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง จึงได้มีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่นักสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่

และสิ่งสำคัญคือ นักวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ซึ่งสามารถทำหน้าที่คัดกรองและบริการเบื้องต้นให้ความรู้แนะนำให้คำปรึกษาได้ รวมถึงสามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไม่กลายเป็นผู้ป่วยในอนาคตได้ ฉะนั้นจึงเป็นบทบาทสำคัญที่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยกัน เพราะจริงๆแล้วนักวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนทำงานในชุมชนที่มีความสัมพันธ์ในองค์กรอื่นๆและช่วยทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคด้วย ยิ่งทำให้ปัญหาเรื่องนี้ลดลง เราจึงเห็นความสำคัญว่าเป็นหน่วยงานที่ควร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและผลักดันเรื่องนี้ว่าจะทำยังไงให้ประชาชนเห็นความสำคัญและดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น

ด้านนพ.ไพโรจน์ เสาน่วม  ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสาธารณสุขและสังคม ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564  พบสถานการณ์การดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10  ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจากร้อยละ 14 ในปี 2557 แต่พบว่านักดื่มหน้าใหม่ช่วงอายุ 15-19 ปี มากถึงร้อยละ 30.8 ช่วงอายุ 20-24 ปี ร้อยละ 53.3 ที่สำคัญพบนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2560 สถานการณ์นี้ส่งผลให้ต้องเร่งหามาตรการควบคุมป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โดย สสส. และภาคีเครือข่าย จะเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชน ดำเนินงานคู่ขนานกับการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษาการเลิกดื่ม ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือครั้งถือถือเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการส่งเสริมศักยภาพของนักสาธารณสุขชุมชนให้สามารถป้องกันและบำบัดผู้มีปัญหาสุราในชุมชนทั่วประเทศ

ด้านผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย กรุงเทพธนบุรี กล่าวว่า ในส่วนของบทบาทมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะสาธารณสุขศาสตร์ การเรียนการสอนเราได้มุ่งไปสู่การพัฒนาและให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านสาธารณสุขชุมชน นอกจากการผลิตบัณฑิตตามสาขาวิชาแล้ว ยังมีหลักเกณฑ์ควบคุมว่า ให้บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็น เหล้าเบียร์ ไวน์ ฯลฯ ไม่สามารถดื่มในสถานศึกษาได้ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาทุกระดับชั้น เรารณรงค์ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งภายในมหาลัยเราสามารถควบคุมได้ ส่วนรอบนอกมหาลัยเรามีการประชาสัมพันธ์ไม่ให้ขายสุราให้กับนิสิตนักศึกษาเด็ดขาด ซึ่งเป็นความโชคดีว่าในระยะ 500 เมตรเราไม่มีสถานบันเทิงต่างๆที่ให้นักศึกษาไปมั่วสุม ซึ่งขณะนี้เราพยามควบคุมดูแลอยู่ นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับ สสส. รณรงค์เขตปลอดบุหรี่ปลอดสุรา ภายในมหาวิทยาลัยด้วย 

"อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นปัญหานี้ว่ามีคนที่กระทำความผิดดื่มสุราแอลกอฮอล์ อย่างกรณี เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและบาดเจ็บและเป็นสาเหตุให้คนตาย และส่วนใหญ่เกิดจากเมาสุรา" ผศ.ดร.วิทยา กล่าว

ขณะที่ นายวศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยความร่วมมือจากสภาการสาธารณสุขชุมชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สสส. และ สปสส. ให้กับนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน และผู้ประกอบวิชาชีพ การสาธารณสุขชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 2,500 คน ให้มีองค์ความรู้ พัฒนาต่อยอดได้และเพิ่มศักยภาพในการทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับพื้นที่ ทำงานสอดประสานร่วมกัน ขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้ทุกคนในสังคมไทยมีสุขภาพดี สังคมพร้อมทั้งให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551