ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภูเก็ต-นครฯ ถกเดือด เครือข่ายกัญชาระดมความเห็นจัดทำ พ.ร.บ. ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ประกอบการ  มองรอบด้านสร้างมาตรฐาน กำหนดกติกาไม่ผลักกัญชาไปเป็นยาเสพติด 
  
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่  1-2  กันยายน ที่ผ่านมา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยได้ ระดมความเห็น จัดทำ พ.ร.บ.กัญชา กับ สมาคมกัญชาภูเก็ต ที่ จ.ภูเก็ต และเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นบรรยากาศที่ดีมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายและเปลี่ยนมุมมองกันในหลายประเด็น

โดยที่ สมาคมกัญชาภูเก็ต มีกลุ่มคนหลายกลุ่มเข้ามาร่วมแสดงความเห็น ทำให้ประเด็นต่าง ๆ มีแง่มุมที่หลากหลายในการมอง เพื่อที่จะทำให้การกำหนดกลไกต่างๆใน พ.ร.บ.มีความรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น ประเด็นสำคัญที่มีการแสดงความเห็นมีอยู่ 9 ข้อ คือ 1.องค์ประกอบของกรรมการที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจกำหนดกลไก กติกาต่างๆให้เป็นไปตาม พรบ. 2.การใช้ประโยชน์เชิงกลไกทั้งหมดของกัญชาอยุ่ภายใต้ระบบใบอนุญาต 3.การปลูกทั้งการปลูกในระดับครัวเรือนและการปลูกเพื่อขาย มีการหารือว่าจำนวนต้นที่เหมาะสมเท่าไหร่ในระดับครัวเรือนและใบอนุญาตปลูกเพื่อขายควรจะกำหนดพื้นที่อย่างไร 4.การกำหนดรูปแบบการขาย วิธีการขาย พื้นที่การขาย 5.กลไกการห้ามใช้กัญชาโดยวีการสูบในสถานที่สาธารณะ 6.กลไกการคุ้มครองเด็กและเยาวชน 7.การนำเข้า ส่งออก 8.การแปรรูปกัญชาสู่ผลิตภัณฑ์ 9.บทลงโทษ

“ประเด็นเหล่านี้เป็นสาระสำคัญที่จะต้องบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.กัญชา ซึ่งการถกเถียงสร้างมุมมองที่หลากหลายจะช่วยให้การกำหนดกติกาในแต่ละประเด็นมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น และเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยจะได้รับฟังประเด็นเหล่านี้และประเด็นอื่นๆกับกลุ่มคนที่หลากหลายเพื่อนำมาสรุปจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.กัญชา ต้องขอบคุณทางสมาคมกัญชาภูเก็ตที่มีความพยายามในการออกแบบด้านต่างๆเพื่อการสร้างมาตรฐานกัญชาไทย” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว 

ส่วนที่การหารือกับเครือข่ายเด็กเยาวชนและคนทำงานด้านเยาวชนเพื่อการจัดทำ พ.ร.บ.กัญชา ที่ได้หารือกันที่  ที่ จ.นครศรีธรรมราชนั้น เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพูดคุยระดมความเห็นมีการแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย นอกจากมาตการที่จะต้องเขียนในกฎหมายแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา หัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยนการเข้าถึงข้อมูลเรื่องกัญชาเป็นช่องทางของการทำความเข้าใจที่จะนำไปสู่การกำหนดกติกาเกี่ยวกับกัญชาอย่างถูกต้องซึ่งในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนซักถามทั้งข้อมูลทางด้านความเป็นยาของพืชกัญชาและอาการเชิงลบที่แต่ละคนประสบพบเจอ 

สำหรับกลไกการคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีการอภิปรายในหลักการสำคัญที่ว่า การกำหนดบทลงโทษสูงสำหรับผู้ที่ทำผิดต่อเยาวชนอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แต่ควรมีกลไกอื่นเข้ามาเสริมโดยเฉพาะกลไกเชิงการเรียนรู้ที่จะทำให้เยาวชนสามารถรับทราบถึงข้อเท็จจริง เพราะการรู้จริงจะนำไปสู่ความเข้าใจในการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ฉะนั้นหัวใจสำคัญคือร่วมกันแสวงหากลไกอื่นที่มากกว่าการกำหนดบทลงโทษและบรรจุมาตรการเหล่านั้นไว้ใน พ.ร.บ.กัญชา

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงภาวะการบริโภคกัญชาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะการใส่กัญชาไว้ในอาหารซึ่งหลายครั้งผู้บริโภคไม่ได้สังเกตเมื่อกินเข้าไปทำให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งประเด็นนี้มีการแลกเปลี่ยนทั้งมาตรการกฎหมายและมาตรการอื่นๆที่จะทำให้การใช้กัญชามีความปลอดภัยและใน พ.ร.บ.กัญชาจะเขียนกฎหมายเพื่อป้องกัน ประเด็นถัดมาเรื่องการใช้กัญชาโดยวิธีการสูบมีการอภิปรายเห็นว่าไม่ควรใช้กัญชาโดยวีการสูบในสถานที่สาธารณะซึ่งจะนำไปสู่การรบกวนผู้อื่น เพราะการใช้กัญชาโดยวีนี้ก่อให้เกิดควันซึ่งเป็นเหตุก่อความรำคาญจึงควรห้ามใช้กัญชาโดยการสูบในสถานที่สาธารณะ และยังมีอีกหลายประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยโดยข้อเสนอแนะสามารถส่งข้อเสนออื่นๆมายังเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยและหลังจากที่เครือข่ายจัดทำร่าง พ.ร.บ.จากการฟังความเห็นที่เสร็จในช่วงต้นเดือนธันวาคมจะส่งกลับมายังเครือข่ายอีกรอบหนึ่ง ขอขอบคุณผู้ประสานงานและผู้เข้าร่วมทุกท่านที่เสียสละเวลามาร่วมกันแสดงความเห็นเพื่อนำไปสู่การจัดทำ พ.ร.บ.กัญชาที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นายประสิทธิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วย สองสามวันมานี้ ประเทศไทยมีคนเมาแล้วขับชนคนอื่นตายเจ็บกี่ศพ ครอบครัวต้องเดือดร้อนจากคนเมาแล้วขับกี่ครอบครัว ภัยมันมากขนาดนี้สังคมนี้ก็ยังอนุญาตให้แอลกอฮอล์อยู่กับสังคมนี้ได้แบบเข้าถึงได้ทุกซอกมุม ขณะที่กัญชาเป็นยามานับพันปี รักษาชีวิตคนมากี่ชีวิต การใช้กัญชาจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนไป เมื่อเราเข้าใจก็จัดการมันได้ ปัญหาที่เกิดคือใช้แบบไม่เข้าใจ มันคือยา ไม่ใช่เครื่องสันทนาการอย่างที่หลายคนกำลังปั่น ตอนนี้กัญชาคือสิ่งมืดดำในสังคมส่วนแอลกอฮอล์นั้นขาวสะอาด คำถามคือ สังคมนี้อนุญาตแอลกอฮอล์แต่ถีบกัญชา ด้วยเหตุผลอะไร สังคมนี้อาศัยข้อเท็จจริงอะไรในการกำหนดสรรพสิ่งเรากำหนดหลายสิ่งด้วยความปลอมมาตลอดใช่หรือไม่ ความปลอมในสังคมนี้มันยังไม่พออีกเหรอ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org