ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. ชี้นโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคควบคู่กับการยกระดับหน่วยบริการ จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนศรัทธาและอยากรับบริการใกล้บ้าน

วันที่ 27 ก.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบายยกระดับ “30 บาทรักษาทุกโรค” ของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ว่า รมว.สธ.ได้มอบนโยบายนี้เพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและทีมงานของกระทรวงสาธารณสุข คิดว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้โดยเฉพาะเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาทางไปรษณีย์ การรับยาใกล้บ้าน ระบบเทเลเมดิซีน หรือแม้แต่การจัดบริการชีวาภิบาลและจิตเวชครบวงจร ตลอดจนการขยายกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก เพราะฉะนั้นเชื่อว่าบริการหลักๆ เหล่านี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้เร็ว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายเรื่องการใช้บัตรประชาชนใบเดียว จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โรงพยาบาลเอกชนทำแบบนี้มานานแล้ว ซึ่งวันนี้ภาครัฐกำลังทำให้ประชาชนที่เข้าโรงพยาบาลรัฐได้รับบริการแบบนี้ เพียงแต่เมื่อภาครัฐจะดำเนินการก็จะมีความท้าทายที่ต้องมีการบูรณาการกันหลายหน่วยงาน เพราะไม่ใช่เป็นแค่การเอาบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการ แต่เบื้องหลังต้องมีการบูรณาการข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยและให้บริการได้สะดวกขึ้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีเขตสุขภาพที่ 8 ที่มีความพร้อม และเชื่อว่าถ้าเขตไหนทำแล้ว อีกไม่นานเขตอื่นๆ ก็ตามมา

ทั้งนี้ นอกจากในเขตสุขภาพแล้ว ในพื้นที่ที่มีหน่วยบริการหลายสังกัดและมีความซับซ้อนในการบูรณาการข้อมูลก็ถือเป็นความยากอย่างหนึ่ง แต่ถ้านโยบายชัดเจนและทำได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เบื้องต้น อาจเริ่มเป็นกลุ่มๆ ก่อน เช่น โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่คลาวด์หนึ่ง โรงเรียนแพทย์อยู่คลาวด์หนึ่ง โรงพยาบาลทหารอยู่อีกคลาวด์หนึ่ง แล้วมีหน่วยงานกลางมาช่วยเชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าในทางเทคโนโลยีแล้วสามารถทำได้ 

“เชื่อว่าถ้าบูรณาการข้อมูลได้ขนาดนี้มันจะยกระดับบริการเลย และนโยบายรัฐบาลก็ไม่ใช่แค่ยกระดับ 30 บาท แต่จะยกระดับสถานพยาบาลใกล้บ้านด้วย เช่น ใน กทม.จะเพิ่ม 50 โรงพยาบาล 50 เขต หรือแม้แต่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดก็ต้องยกระดับขึ้นมา จะทำให้ประชาชนศรัทธาและอยากไปรับบริการใกล้บ้าน เช่น ถ้าอยู่ใกล้ รพ.สต. แต่เหมือนอยู่ใกล้หมอเพราะสามารถไปเทเลเมดิซีนกับหมอได้ มันก็เป็นการยกระดับ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล และจะทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น หรืออย่างใน กทม. ก็จะมีสถานพยาบาลทุติยภูมิมารองรับมากขึ้น ไม่ต้องส่งตัวสะเปะสะปะ เรามองในแง่บวกว่ามันจะยกระดับมากขึ้น ส่วนจะเป็นรูปธรรมแค่ไหนอย่างไร เชื่อว่าจะได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น วัคซีนจะได้จำนวนมากขึ้น จะได้รับการตรวจคัดกรองมากขึ้น จะทำมะเร็งครบวงจรด้วย ชีวาภิบาล เดิมอาจจะไม่ได้พูดถึง แต่วันนี้พูดกันเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำรูปแบบไหนอย่างไร เป็นต้น”นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของระบบการเบิกจ่ายของ สปสช. เองนั้น พร้อมรองรับนโยบายต่างๆเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมา สปสช. ก็ใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งมีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว เมื่อเสียบบัตรประชาชนที่หน่วยบริการ ข้อมูลก็จะวิ่งมาที่ สปสช. และเมื่อให้บริการไปแล้วก็มีข้อมูลส่งมาอีกว่าประชาชนมารับบริการอะไร สปสช.ก็เตรียมพร้อมจ่ายชดเชยค่าบริการได้ทันที