ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. เผยไทยยังมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ มี 6 จังหวัดได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวม 6,584 ครัวเรือน เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และสูญหาย 1 ราย ห่วง “อุบลราชธานี” ระดับน้ำมูลล้นตลิ่ง แนวโน้มยังสูงขึ้น เฝ้าระวัง 4 อำเภอเสี่ยง กำชับ สสจ.เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์

เมื่อวันที่ 28 กันยายน  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ว่า จากสถานการณ์หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางกำลังจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2566 ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี และยะลา ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,584 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ที่จังหวัดจันทบุรี รวมถึงสูญหายอีก 1 ราย ที่จังหวัดยะลา ภาพรวมมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 7 แห่ง เป็น รพ.สต. 5 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และโรงพยาบาล 1 แห่ง ทั้งหมดสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์วิกฤต ระดับน้ำล้นตลิ่ง ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบด้านการดำรงชีพใน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ รวม 1,987 คน มีการตั้งจุดพักพิงแล้ว 11 แห่ง แบ่งเป็น อ.เมืองอุบลราชธานี 9 แห่ง ดูแล 78 ครัวเรือน 268 คน และ อ.วารินชำราบ 2 แห่ง ดูแล 119 ครัวเรือน 424 คน รวมทั้งหมด 197 ครัวเรือน 692 คน ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเปราะบาง 239 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 64 ราย เด็กอายุ 2-12 ปี 55 ราย ความดันโลหิตสูง 55 ราย เบาหวาน 20 ราย ผู้พิการ 16 ราย เป็นต้น ได้ให้การดูแลโดยคัดกรองความเครียดในจุดพักพิง 99 ราย พบมีความเครียดเล็กน้อย 14 ราย ส่วนการเจ็บป่วยทั่วไปพบเป็นไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ 24 ราย น้ำกัดเท้า 19 ราย และอุจจาระร่วง 1 ราย

 “จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำมูลจะสูงกว่าตลิ่ง 0.84 เมตร ปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อมช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่” นพ.โอภาสกล่าว