Labmove จากบริการเจาะเลือดที่บ้าน สู่เป้าหมายส่งเสริมป้องกัน ขับเคลื่อนระบบสุขภาพคนไทย พร้อมช่วยส่งเสริมการแพทย์ทางไกล ให้ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล อย่างแรกที่ต้องทำ คือ การเจาะเลือด เพราะการตรวจเลือดจะช่วยในการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ การทำงานของอวัยะภายในร่างกาย บ่งบอกถึงอาการป่วย ความเสี่ยงของสุขภาพในปัจจุบัน หรืออาจบอกได้ถึงโรคร้ายที่แฝงตัวอยู่ ทุก ๆ เช้าในโรงพยาบาล จึงมีผู้ป่วยที่รอการเจาะเลือดอย่างหนาแน่น 

Labmove บริการเจาะเลือดจากนักเทคนิคการแพทย์ จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดย 3 นักเทคนิคการแพทย์ นายวินัย นามธง นายโฆษิต กรีพร และนายสัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกในการเจาะเลือด ให้ผู้ป่วยไม่ต้องไปรอคิวเป็นเวลานาน ๆ เพื่อการเจาะเลือด

"รูปแบบการเจาะเลือดที่บ้านอาจมีหลายบริษัทที่ทำกัน แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ภาระความรับผิดชอบนั้นยิ่งใหญ่ เพราะผู้ป่วยพึ่งพาเรา Labmove จึงไม่ได้ให้บริการแค่เจาะเลือดที่บ้าน แต่ยังให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ให้คำแนะนำการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยด้วย" นายวินัย กล่าวและเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Labmove ว่า ในช่วงก่อนโควิด ภาครัฐเคยมีนโยบายลดการรอคอยในโรงพยาบาล มีการจัดโครงการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยไปเจาะที่จุดเจาะเลือดตามที่โรงพยาบาลภาครัฐกำหนด ซึ่งช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล เพื่อความสะดวกและเท่าเทียมในการบริการสาธารณสุข เมื่อเห็นแนวนโยบายภาครัฐแล้วว่า การเจาะเลือดเป็นปัญหาคอขวดที่มีการรอคอยเป็นระยะเวลานานในโรงพยาบาล จึงคิดว่า ควรนำความรู้ด้านเทคนิคการแพทย์ไปทำงานเชิกรุก 

"ประชาชนแทบจะไม่รู้จักเราเลย ทั้งที่งานเจาะเลือด ตรวจแล็บ ก็เป็นหน้าที่ของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ การเจาะเลือดจึงเป็นภารกิจหลักแรกที่นักเทคนิคการแพทย์จะทำเชิงรุกได้ จึงปรับกระบวนการคิดใหม่ รวมตัวกันทำงานเชิงรุกให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วยการไปเจาะเลือดที่บ้าน แล้วนำเลือดส่งตรวจที่โรงพยาบาลต้นสังกัด กลุ่มเป้าหมายเน้นที่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็น คนชรา คนพิการ หรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" 

นายวินัย เพิ่มเติมว่า ตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นด้วย บริการเจาะเลือดที่บ้านจึงช่วยส่งเสริมการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine ได้ด้วย เพราะการให้คำปรึกษาประกอบกับผลการตรวจเลือด จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Labmove จึงอยากเป็นผู้บุกเบิก Telelab ตอบโจทย์การดูแลรักษาในอนาคต

ป้จจุบัน Labmove มีนักเทคนิคการแพทย์ประจำใน กทม. 9 คน และมีนักเทคนิคการแพทย์ประจำในเชียงราย 2 คน ส่วนนักเทคนิคการแพทย์ไม่ประจำมีในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 30 คน และในลำปาง 4 คน โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลใน กทม. เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลวชิระ ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และโรงพยาบาลลำปาง โดยมีการทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจ เพื่อให้ได้มาตรฐานโรงพยาบาล

ด้านนายโฆษิต กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยพบแพทย์และได้ใบนัดแพทย์แล้ว สามารถนัดวันและเวลาเจาะเลือดผ่าน LINE ID : @labmove โดยจะนัดเจาะเลือดล่วงหน้า 7 วันก่อนพบแพทย์ ค่าบริการคิดตามระยะทางระหว่างบ้านผู้ป่วยและโรงพยาบาล ซึ่งนักเทคนิคการแพทย์จะดูรายละเอียดของผู้ป่วยว่า ในใบนัดแพทย์มีข้อมูลอะไร ต้องใช้อุปกรณ์แบบไหน เมื่อเจาะเลือดแล้วก็จะนำเลือดนั้นส่งที่โรงพยาบาลต้นสังกัด 

"การทำงานของ Labmove จะมองว่า ส่วนไหนที่สามารถส่งเสริมด้านสุขภาพให้กับคนไทยได้ จากเดิมที่ระบบสาธารณสุขเน้นเรื่องการรักษา แต่หลายประเทศปรับเป็นการดูแลสุขภาพองค์รวมให้ดีขึ้น วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังอยากขยายเครือข่ายเทคนิคการแพทย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้นำรูปแบบและแนวคิดไปขยายกับโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ" นายโฆษิต กล่าว 

แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีบริการเจาะเลือดที่บ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความแตกต่างที่สำคัญของ Labmove คือ งานด้านการส่งเสริมป้องกัน นายวินัย เสริมว่า นอกจาก Labmove จะให้บริการเจาะเลือดแล้ว ยังทำให้ภาคสังคมได้รู้จัก วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ว่ามีหน้าที่อย่างไร การเจาะเลือดที่บ้านจึงเป็นเป้าหมายหลักแรกที่จะนำวิชาชีพเข้าสู่ชุมชนได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทย ให้รู้วิธีดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรค สามารถลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้ และค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพเทียบกับการรักษานั้นยังแตกต่างกันอย่างมาก

"เมื่อผู้ป่วยพูดคุยกับนักเทคนิคการแพทย์ของเราจนคุ้นเคยแล้ว ก็จะเปิดใจรับฟังในการดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรมต่าง ๆ โดยที่เราจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคที่อาจป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคไต ก็ให้คำแนะนำเรื่องการตรวจสุขภาพเฉพาะเจาะจงตามความเสี่ยงของครอบครัว ให้ผู้ป่วยตระหนักถึงสุขภาพของตัวเอง ผมอยากให้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์เป็นที่ปรึกษาทางสุขภาพให้กับประชาชน" นายวินัย ย้ำและว่า การทำงานด้านส่งเสริมป้องกันจะช่วยประเทศชาติลดงบประมาณในการรักษา อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เมื่อมีปริมาณคนป่วยเยอะ ระบบสาธารณสุขของประเทศหรือแม้แต่ทั่วโลก ก็ไม่อาจรองรับได้ไหว งานด้านส่งเสริมป้องกันจึงสำคัญมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นวิชาชีพไหนที่ทำหน้าที่โดยตรง นอกจากนี้ ยังอยากให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณด้านการส่งเสริมป้องกัน ถ้าสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ระบบสุขภาพของประชาชนจะดีขึ้น ประเทศก็ไม่ต้องเสียเงินในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org