ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ชวนหญิงไทยตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิรักษาพยาบาล รับบริการตรวจคัดกรอง “ดาวน์ซินโดรม” และ “ธาลัสซีเมีย” ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์ กองทุนบัตรทอง เผยช่วง 5 ปี มีหญิงตั้งครรภ์รับบริการเพิ่มเกือบ 2 แสนราย แต่ยังไม่ครอบคลุม เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเด็กเกิด เผยช่วยเพิ่มคุณภาพประชากรเด็กเกิดใหม่     

วันที่ 5 พ.ย. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กลุ่มอาการดาวน์ หรือ “ดาวน์ชินโดรม” เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมที่พบบ่อยที่สุด คือการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีพัฒนาการช้า ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และภาวะต่อไทยรอยด์บกพร่องได้ เพื่อให้เกิดการคัดกรองทารกในครรภ์ที่มีแนวโน้มต่อภาวะดาวน์ซินโดรม สปสช. จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ในชุดบริการฝากครรภ์คุณภาพให้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนทุกสิทธิการรักษา ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ได้เข้าถึงบริการ 

ดังนั้น นอกจากการตรวจความสมบูรณ์ของครรภ์ตามระยะเวลาของครรภ์ การตรวจคัดกรองโรค การฉีดวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็น การประเมินสุขภาพจิต และการให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ภายใช้ชุดสิทธิประโยชน์ฝากครรภ์คุณภาพแล้ว ยังมี “สิทธิประโยชน์บริการคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์” โดยได้เริ่มเมื่อปี 2559 สปสช. และต่อมาในปี 2564 สปสช. ได้ขยายความครอบคลุมบริการนี้ให้กับ “หญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ” จากเดิมที่จำกัดเฉพาะกลุ่มอายุ 35 ปี ขึ้นไป 

 
“จากรายงานการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ (Cost-benefit analysis : CBA) ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ  (HITAP) ในปี 2559  พบว่า หากมีการคัดกรอง การตรวจยืนยัน และด้วยวิธีในปัจจุบันสามารถลดเด็กเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรมเหลือ 372 ราย จากประมาณการอุบัติการณ์ 1,152 ราย หรือสามารถป้องกันทารกเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรมได้ถึง 780 ราย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า จากรายงานข้อมูลระบบบัตรทอง 30 บาท ว่าด้วยสิทธิประโยชน์นี้ ทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการคัดกรองดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดเพิ่มขึ้น โดยปี 2562 อยู่ที่ 37,732 ราย (ร้อยละ 6 ต่อการเกิดมีชีพ) และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2561-2565 คือที่จำนวน 73,261 ราย (ร้อยละ 13), 176,777 ราย (ร้อยละ 34) และ 197,245 ราย (ร้อยละ 39) ตามลำดับ และในปี 2566 ข้อมูลล่าสุดอยู่ที่จำนวน 182,725 ราย (ข้อมูลปี 2566 ยังไม่สมบูรณ์) โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการคัดกรองมีผลตรวจพบเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรม ร้อยละ 9.2 ซึ่งหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้จะได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ และยุติการตั้งครรภ์หากผลการตรวจวินิจฉัยในครรภ์พบว่าทารกในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรเป็นลำดับต่อไป 
 
อย่างไรก็ตามแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์จะมีแนวโน้มได้รับการตรวจการคัดกรองดาวน์ซินโดรมเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูข้อมูลความครอบคลุมบริการ หากเปรียบเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2564 ซึ่งอัตราการเกิดอยู่ที่จำนวน 485,085 คน จะเห็นได้ว่ามีหญิงตั้งครรภ์เข้ารับบริการไม่ถึงร้อยละ 50 นับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากนี้ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท ยังมีสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันโรคโลหิตจางโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะที่มีผลต่อทารกในครรภ์ จากข้อมูลปี 2562-2566 แม้ว่าแนวโน้มของหญิงตั้งครรภ์ที่ผลการตรวจมีความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์จะเป็นโรคโลหิตจากธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจะได้รับบริการการตรวจวินิจฉัยในครรภ์เพิ่มขึ้น จากข้อมูลปี 2562-2566 มีจำนวนการตรวจยืนยันที่ 152,861 ราย พบภาวะธาลัสซีเมียรุนแรง (Thalassemia Major) จำนวน 1,639 ราย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลนี้เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเด็กเกิดใหม่ก็เป็นจำนวนรับบริการที่ไม่มากด้วยเช่นกัน 

     
“สปสช. จึงขอเชิญชวนหญิงไทยตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล เข้ารับบริการฝากครรภ์คุณภาพที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์กับ สปสช. รวมถึงบริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมและธาลัสซีเมียมีผลต่อภาวะทารกในครรภ์ที่จะเกิดมา โดยอยู่ในชุดนี้ประโยชน์ฝากครรภ์นี้ด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กไทยที่เกิดใหม่มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง รวมถึงมีพัฒนาการสมวัย สู่ประชากรคุณภาพของประเทศ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว