ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. - สสจ. เพชรบุรี จัดประชุมขับเคลื่อน “โครงการบัตรประชาชนใบเดียวฯ” ดึงสภวิชาชีพทางการแพทย์ ร่วมชี้แจงหน่วยบริการ สร้างความมั่นใจ สมัครร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง 30 บาท เตรียมความพร้อมระบบ ก่อนเริ่ม 8 ม.ค. 67 ย้ำชัดปรับเพิ่มประสิทธิภาพเบิกจ่ายให้หน่วยบริการเอกชนภายใน 3 วัน ด้าน “นายกแพทยสภา” ชวนคลินิกเวชกรรมเข้าร่วมโครงการฯ ชี้ประชาชนได้ประโยชน์ แบ่งเบาภาระงานแพทย์ใน รพ.  

ที่โรงแรมรอยัง ไดมอน เพชรบุรี – เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมชี้แจงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค ภายใต้โครงการ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมความร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และสภาการแพทย์แผนไทย โดยจังหวัดเพชรบุรีเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยบริการสาขาวิชาชีพต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วมเกือบ 200 คน 


 
นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค” และคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดนำร่องดำเนินการโครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ร่วมกับจังหวัดแพร่ ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ในหน่วยบริการทุกสังกัด และเข้ารับบริการจากหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านต่างๆ ได้ เช่น ด้านเภสัชกรรม (ร้านยา) แพทย์แผนไทย กายภาพบำบัด การพยาบาลและผดุงครรภ์ รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ บริการเก็บสิ่งส่งตรวจนอกหน่วยฯ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ปัจจุบันด้วยหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านมีจำนวนจำกัดและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีสถานพยาบาลด้านเภสัชกรรม (ร้านยา) 102 ร้าน คลินิกกายภาพบำบัด 2 แห่ง คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ 47 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 7 แห่ง คลินิกเวชกรรม 93 แห่ง คลินิกทันตกรรม 34 แห่ง และสหคลินิก 4 แห่ง เพื่อให้โครงการฯ บรรลุสำเร็จ การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและสะดวก จึงจำเป็นต้องจัดให้มีหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ที่นำมาสู่การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ นโยบาย แนวทางการดำเนินการและสร้างความมั่นใจให้กับสถานพยาบาลทุกวิชาชีพในการเข้าร่วมโครงการฯ

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า โครงการบัตรประชาชนใบเดียวฯ คงสงสัยกันว่าสภาวิชาชีพด้านการแพทย์เกี่ยวข้องอะไร ต้องเล่าว่าโครงการนี้เป็นนโยบายระดับชาติ และองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ต่างๆ ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมเป็นคณะพัฒนาสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้แทนของสภาวิชาชีพฯ มาพูดคุยเพื่อร่วมกันดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข และเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ได้เข้าชี้แจงในที่ประชุมสภาวิชาชีพฯ เพื่อขอความร่วมมือร่วมผลักดันโครงการฯ ที่นำร่องใน 4 จังหวัดกับ สปสช.

และจากข้อมูลที่ได้รับมองว่าเป็นโครงการที่ดี ประชาชนได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังช่วยแบ่งเบาภาระงานแพทย์ในโรงพยาบาลได้ แต่ที่ผ่านมาการร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. จะมีปัญหาการเบิกจ่ายที่ล่าช้า อัตราการจ่ายต่ำ ซึ่งทางเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าภายใต้โครงการฯ ได้มีการปรับประสิทธิภาพแล้วและจะดูแลหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นอย่างดี ดังนั้นในฐานะองค์กรวิชาชีพแพทย์จึงอยากเชิญชวนคลินิกเวชกรรมอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ให้มาร่วมโครงการ หากมีปัญหาอะไร ให้แจ้งมาที่แพทย์สภา ซึ่งจะช่วยประสานไปยัง สปสช. เพื่อแก้ปัญหาต่อไป  

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีนโยบายสนับสนุนโครงการบัตรประชาชนใบเดียวฯ เพื่อมุ่งเพิ่มความสะดวกการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน โดยมีหน่วยบริการเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ผ่านมา สปสช. จึงได้เร่งเชิญชวนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน และหน่วยบริการนวัตกรรมใน 4 จังหวัดนำร่อง เข้ามาร่วมให้บริการภายใต้โครงการฯ ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลบริการทั้งจังหวัดเป็นข้อมูลเดียวกัน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริการและด้านสาธารณสุข ขณะที่ สปสช. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายให้รวดเร็วขึ้น โดยนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้องและรวดเร็ว ทำให้หน่วยบริการเอกชนที่สมัครเข้าร่วมจะได้รับการจ่ายเชยค่าบริการภายใน 3 วัน เป็นการเพิ่มความั่นใจให้กับหน่วยบริการ

 “โครงการบัตรประชาชนใบเดียวฯ จะเริ่มให้บริการในวันที่ 8 มกราคม 2567 ในระหว่างนี้จึงเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และวันนี้เป็นการเตรียมการในพื้นที่ จ.เพชรบุรี นอกจากการประชุมชี้แจงนโยบาย หลักเกณฑการขึ้นทะเบียนและขั้นตอนต่างๆ ของการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ยังมีการได้เปิดรับสมัครหน่วยบริการฯ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ส่วนเหตุผลที่จังหวัดเพชรบุรีได้เลือกเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง เพราะด้วยความพร้อมของระบบและการทำงานร่วมกันของทุกองค์กรวิชาชีพ ความเข้มแข็งของบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นต้นแบบการดำเนินการโครงการฯ และขยายต่อยอดในเฟส 2 อีก 8 จังหวัดที่จะเริ่มในเดือนเมษายนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว  

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดประชุมชี้แจงฯ นี้ สปสช. ได้ดำเนินการทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง และได้มีการจัดประชุมไปแล้วที่ จ.แพร่ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา และจะมีการจัดประชุมที่จังหวัดร้อยเอ็ดและนราธิวาส ในวันที่ 28 และ 30  พ.ย. 66 (ตามลำดับ) ต่อไป