ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทประสานเสียง พึงพอใจโครงการรับยาใกล้บ้านเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นอย่างยิ่ง ชี้รับบริการสะดวก ไม่เสียค่าเดินทาง ไม่ต้องรอคิวนาน แถมเภสัชกรยังให้คำแนะนำเป็นอย่างดี

หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม จัดทำโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อยปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน มาระยะหนึ่ง ทีมข่าว สปสช. ได้ลงพื้นที่เขตประเวศ กทม. เพื่อสอบถามความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการ พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก

วันที่ 29 พ.ย. 2566 ภก.พิชยะ วิเศษจินดา เภสัชกรประจำร้านยา "ศูนย์รวมยาสวนหลวง" ซึ่งตั้งอยู่หน้าตลาดบุญเรือง ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร. 9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. และเป็นหนึ่งในร้านยาที่เข้าร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและทำให้วิชาชีพเภสัชกรได้แสดงบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมโครงการแล้วพบว่าประชาชนในพื้นที่ให้การตอบรับดีมาก เพราะได้รับความสะดวดในการรับบริการ จนทำให้ร้านยาเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนและมีผู้มารับบริการมากยิ่งขึ้น

ภก.พิชยะ กล่าวอีกว่า ในการให้บริการนั้น เมื่อมีผู้เข้ามารับบริการก็จะมีการตรวจสอบสิทธิและซักประวัติแล้วจ่ายยา หลังจากนั้นจะมีการติดตามอาการเพื่อดูได้ว่ายาที่จ่ายไปสามารถรักษาได้หรือไม่อย่างไร ต้องส่งต่อโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณวันละ 10-20 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจ่ายตลาด เช่น แม่บ้าน ผู้สูงอายุ ส่วนเด็กในโรงเรียนใกล้ๆ ก็มีบ้าง โดยอาการส่วนใหญ่คือเป็นไข้ หวัด เจ็บคอ และในผู้สูงอายุจะมีเรื่องท้องผูก อาหารไม่ย่อยด้วย

"คนไข้ชอบมาก บางคนเขาเตรียมเงินมาจ่ายแต่พอบอกว่าโครงการนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย เขาจะดีใจมาก เพราะสิ่งนี้มันช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวเขาได้ และในมุมของตัวร้านยาก็มองว่าเราได้แสดงบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ป่วยเปิดใจยอมคุยกับเภสัชกรมากขึ้น มีความไว้วางใจเภสัชกรชุมชนมากขึ้น"ภก.พิชยะ กล่าว

ด้าน นางสาลี พูนพิพัฒน์ ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับโครงการนี้เพราะทุกอย่างดีมาก เวลามารับยา ทางเภสัชกรจะช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวว่าแบบไหนดี แบบไหนไม่ดี ขณะที่การเดินทางก็สะดวกสบาย ขั้นตอนการรับบริการก็ไม่ยุ่งยาก ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องหยิบบัตรคิว ไม่ต้องรอคิวนาน ตนจึงเลือกรับบริการที่ร้านยาก่อน ถ้าอาการดีขึ้นก็จบ ถ้ายังไม่ดีขึ้นค่อยไปโรงพยาบาล

"จากที่มีอาการบ้านหมุน พอร้านยาเปิดก็รีบมาแล้วก็ได้ยาเลย มีการซักประวัติและให้คำแนะนำ ทานยาไปสักพักอาการก็ดีขึ้น แต่ถ้าไปโรงพยาบาลก็ต้องรอคิวนานหน่อย หรือเมื่อมีอาการหายใจไม่สะดวก ต้องทานยาแก้แพ้เป็นประจำ  เภสัชกรก็แนะนำให้ล้างจมูกน้ำเกลือ พอทำแล้วก็หาย ตอนนี้ไม่ต้องทานยาแก้แพ้เลย" นางสาลี กล่าว

ด้าน นางสุวรรณา สิทธิพล อีกหนึ่งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กล่าวว่า ตนมีอาการวุ้นในตาเสื่อม รู้สึกระคายเคืองตา จึงมาที่ร้านยาเพื่อรับน้ำตาเทียม พอรับแล้วอาการก็ค่อยยังชั่วขึ้นมา ยิ่งกรณีที่เคยทานยาอยู่แล้วและมาขอรับยาตัวเดิมก็ทำให้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเมื่อใช้สิทธิบัตรทองก็ไม่มีค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่มีเงินก็มารับยาได้ ทำให้อาการไม่ทรุดหนักมากไปกว่าเดิม

"รู้สึกพอใจกับโครงการนี้มากเพราะถ้าไปหาหมอต้องรอคิวนานจนไม่อยากไปโรงพยาบาล แต่เพื่อนแนะนำให้มาที่ร้านยา ซึ่งก็ได้รับการพูดคุยให้คำแนะนำที่ดีมาก ได้ยาแล้วยังโทรติดตามอาการอีก รู้สึกว่าเอาใจใส่ผู้ป่วยดีมาก การรับบริการก็สะดวก ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว ต้องขอบคุณ สปสช. ที่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนและอยากให้มีบริการแบบนี้ใกล้บ้านให้มากขึ้นในทุกชุมชน” นางสุวรรณา กล่าว

ขณะที่ นางนพิศ กลิ่นรื่น ผู้รับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุบางคนแล้ว การเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องลำบาก เพราะไม่มีรถหรือลูกๆไม่มีเวลาพาไป ยิ่งไปแล้วเจอเจ้าหน้าที่ที่พูดจาไม่ดีหรือโดนดุก็ยิ่งทำให้ไม่อยากไปโรงพยาบาล พอมีบริการใกล้บ้านในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น เมื่อมาแล้วเภสัชกรก็ให้คำแนะนำอย่างดี 

"ส่วนตัวเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ก็จะแนะนำคนในซอยให้มารับบริการที่นี่หมด ได้ยาเหมือนไปอนามัยก็โรงพยาบาล ครั้งนี้มารับบริการเป็นครั้งที่ 3 แล้ว  เพราะมันเร็วและสะดวกมากกว่าไปอนามัย" นางนพิศ กล่าว

ด้าน นางสาวสุดา (นามสมมติ) กล่าวว่า เป็นเจ้าของร้านตัดผม ถ้าปวดหัวตัวร้อน ไม่สบายต้องไปโรงพยาบาลก็ต้องเสียลูกค้าไปครึ่งวัน แต่ถ้ามาที่ร้านยาก็เสียเวลาไม่กี่นาทีและการให้บริการก็ดี เภสัชกรอธิบายให้เข้าใจได้ดี 

"มันสะดวก เราไม่ต้องปิดร้านครึ่งวัน มาหาเภสัชกร ยื่นบัตรประชาชน เช็คสิทธิว่าใช้บัตรทองหรือไม่แล้วก็ซักประวัติจ่ายยา บางทีกลับไปตัดผมให้ลูกค้าแล้วค่อยกลับมารับยาก็ยังได้ แล้วรับยาไปแล้วก็โทรติดตามอาการ ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ปรับยาให้” นางสุดา กล่าว